ปิยรัตน์ แซ่อึ้ง
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
Email:
ในปี 2567 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้จัดโครงการ “กิจกรรม MWIT พี่ช่วยน้อง ให้ความรักและความรู้ 6 ภูมิภาค” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ จากความร่วมมือของคณะทำงานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 2 กิจกรรมที่มารวมตัวกันเฉพาะกิจ คือ กิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ และกิจกรรมจิตสำนึกความเป็นไทยและความเป็นพลเมืองโลก
MWIT จัดค่ายบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในทุกปีการศึกษา แต่ก็ห่างหายจากการจัดค่ายในพื้นที่ห่างไกลโรงเรียนมานาน ค่ายครั้งนี้จึงมีความพิเศษอย่างยิ่งคือจัดกระจายไปถึง 6 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของ MWIT คือเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนมาจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย ประกอบกับการเลือกจัดในช่วงมิดเทอมเบรก (ปลายเดือนกรกฎาคม) ซึ่งนักเรียนจะต้องเดินทางกลับบ้านอยู่แล้ว ค่ายครั้งนี้จึงเป็นโอกาสให้นักเรียนได้ไปทำประโยชน์เพื่อชุมชนบ้านเกิดของตนเอง
ผู้เขียนในฐานะคณะทำงานกิจกรรมจิตสำนึกความเป็นไทยและความเป็นพลเมืองโลกได้รับมอบหมายให้ร่วมดูแลนักเรียนในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ และผู้เขียนตั้งใจเลือกไป “ค่ายภาคใต้” ซึ่งจัดที่โรงเรียนเอิ้นวิทยานุสรณ์ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เนื่องจากภูมิลำเนาของผู้เขียนอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีคณะครูอีก 3 คนร่วมขบวนในครั้งนี้ คือ อาจารย์รัตนา สุขสำราญ, อาจารย์ปวรปรัชญ์ อิ่มละมัย และอาจารย์ดารุณี เจริญธรรมโกศล

ใต้การทำงานของนักเรียน
“ค่ายภาคใต้” หรือที่ผู้เขียนแอบตั้งชื่อเล่นว่า “ค่ายจะนะก็แค่ปากซอย” เกิดขึ้นจากนักเรียนแกนนำ 3 คน คือ ณฐมน วทนปรีชา, กิตินัทธ์ แก้วรักษ์ และกฤษณพงษ์ กอบกิจ ทั้ง 3 คนเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 คนแรกมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดสงขลา ส่วนอีก 2 คนมาจากจังหวัดตรัง ทั้ง 3 คนอยู่คนละห้องแต่ทำโครงงานกลุ่มเดียวกัน จึงมีความสนิทสนมกันอยู่แล้ว ณฐมนคือคนที่รับเป็นประธานค่ายภาคใต้ก่อน จากนั้นจึงชวนกิตินัทธ์และกฤษณพงษ์มาร่วมทีม พวกเขานิยามรูปแบบการทำงานค่ายนี้ว่า “เรา 3 คนช่วย ๆ กัน”
โรงเรียนที่นักเรียนทั้ง 3 คนเลือกไปคือโรงเรียนเอิ้นวิทยานุสรณ์ มาจากการสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตว่าโรงเรียนไหนที่ต้องการความช่วยเหลือบ้าง และเลือกโรงเรียนที่เดินทางไม่ลำบากจนเกินไป
ค่าย 6 ภูมิภาคดำเนินการตั้งแต่ช่วงปิดภาคเรียนเดือนเมษายน โดยเริ่มจากหานักเรียนที่สนใจเป็นประธานค่าย สำหรับค่ายภาคใต้ ณฐมนได้รับการทาบทามจากรุ่นพี่คณะกรรมการสภานักเรียน และเธอตอบรับในทันทีด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่า “ไม่มีความจำเป็นที่จะปฏิเสธงาน ถือว่าช่วย ๆ กัน ดีใจที่พี่เขานึกถึงเรา”
เมื่อได้ทีมแกนนำของแต่ละค่าย จากนั้นนักเรียนจึงประสานงานกับครู แล้วเข้าสู่ขั้นตอนการรับสมัครนักเรียนทีมงาน ซึ่งทุกค่ายดำเนินการพร้อมกัน การคัดเลือกนั้นไม่ได้อาศัยเพียงความเร็วในการสมัครทาง Google Forms เท่านั้น แต่ยังมีคำถามที่นักเรียนแกนนำคิดเพื่อให้ผู้สมัครตอบเพื่อดูทัศนคติด้วย สำหรับค่ายภาคใต้ยังมีเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่แจ้งไปตั้งแต่ตอนรับสมัครคือ ต้องการคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ เพราะค่ายจัดในช่วงกลางมิดเทอมเบรก การอยู่ในโซนภาคใต้จึงสะดวกต่อการเดินทางไปจุดนัดพบที่อำเภอหาดใหญ่ การรับสมัครทำให้ได้ทีมงานชาวภาคใต้มาอีก 30 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน ม.4 และ ม.5 กลายเป็น “ค่ายภาคใต้ โดยคนใต้ เพื่อคนใต้”
การนัดพบชาวค่ายครั้งแรกเป็นการประชุมแบบออนไซต์ ผู้เขียนเพียงพูดภาพรวมและขอข้อมูลการเดินทางของนักเรียนเพื่อนำไปประสานงานกับส่วนกลางต่อ ส่วนการวางแผนงานในค่ายนั้นขับเคลื่อนโดยนักเรียนแกนนำ เริ่มจากการอธิบายรายละเอียดงานทั้งหมด และแบ่งฝ่ายงานตามความสมัครใจของทีมงาน จนได้คนดูแลกิจกรรมหลักในค่าย 3 ฝ่าย ได้แก่ พี่กลุ่ม พี่สันทนาการ และพี่ฐาน หลังจากวันนั้นนักเรียนติดตามงานกันผ่านไลน์กลุ่มโดยมีครูเป็นผู้สังเกตการณ์และเสริมข้อมูลบ้าง มีการประชุมออนไลน์อีก 3 ครั้ง แล้วจึงนัดซ้อมเสมือนจริงแบบออนไซต์ 1 ครั้ง
ท่ามกลางภาระงานที่ล้นมือของนักเรียนแต่ละคน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำงานค่ายอย่างมีประสิทธิภาพเกิดจากระบบและการวางแผนของทีมแกนนำทั้ง 3 คน และส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาคล่องแคล่วขนาดนี้ก็คือกิจกรรมต่าง ๆ ใน MWIT ทั้งประสบการณ์อ้อมจากการเป็นทีมงานในกิจกรรมอื่น รวมทั้งการได้เห็นแนวทางการทำงานของรุ่นพี่ในกิจกรรมโรงเรียน และประสบการณ์ตรงในการเป็นผู้นำ กฤษณพงษ์เป็นคณะกรรมการหอพัก กิตินัทธ์เคยเป็นผู้ประสานงาน cultural day ซึ่งเป็นกิจกรรมห้องในช่วง ม.4 โดยเฉพาะณฐมนที่เป็นเด็กกิจกรรม ทั้งเคยเป็นคณะกรรมการสภานักเรียนและเป็นผู้นำในหลายกิจกรรมมาก่อน
“โชคดีที่เคยเป็นเฮดงานอื่นมาก่อน ก็เลยพอจะรู้รูปแบบในการทำงานว่าควรจะแจกงานอย่างไร กำหนดเวลาเท่าไร เวลาประชุมควรพูดอะไรบ้าง”
นอกจากความเป็นผู้นำอันแข็งแกร่งของนักเรียนกลุ่มแกนนำแล้ว ทีมงานทั้ง 30 คนก็แข็งขันไม่แพ้กัน โชคดีที่นักเรียน ม.5 เพิ่งจัดค่ายบำเพ็ญประโยชน์หรือที่เรียกกันว่า “ค่ายห้อง” ไปในช่วงเดือนมิถุนายน จึงทำให้มีประสบการณ์ในการออกแบบกิจกรรม ส่วน ม.4 แม้จะไม่เคยเข้าร่วมค่ายบำเพ็ญประโยชน์ใน MWIT มาก่อน แต่ก็พร้อมเรียนรู้การทำงานจากรุ่นพี่

“ภูมิใจที่ตัดสินใจมาเป็นเฮดกิจกรรมนี้ การให้เป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำอยู่แล้ว อยากให้ค่ายนี้เป็นแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ พัฒนาตนเองและแบ่งปันให้คนอื่นต่อไป”
(กฤษณพงษ์ กอบกิจ)
“ภูมิใจที่ก้าวข้ามเซฟโซนมาทำงานในสเกลที่ใหญ่ขึ้นได้ ได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ จากการทำงาน พอมาเป็นเฮด ต่างจากตอนที่เป็นแค่ผู้ปฏิบัติงาน เพราะต้องวางแผนจัดการงาน ถึงช่วงแรกจะกังวลบ้าง แต่พอไปค่ายแล้วเห็นน้อง ๆ สนุกก็ดีใจ พอน้องบอกว่าอยากให้มาอีกในปีหน้า ความเหนื่อยที่เตรียมงานมาก็หายหมดเลย น้อง ๆ ได้ประโยชน์จากกิจกรรม เราเองก็ได้เรียนรู้การทำงาน”
(กิตินัทธ์ แก้วรักษ์)
“ภูมิใจในชาวค่ายภาคใต้ทุกคนมาก ๆ ทุกคนตั้งใจทำหน้าที่ตัวเองและช่วยเหลือกัน น้องที่มาเข้าร่วมกิจกรรมก็เต็มที่มาก กิจกรรมค่ายภูมิภาคเกิดจากแนวคิดที่ดีมาก ๆ เพราะได้กระจายไปสู่หลายพื้นที่ และนักเรียน MWIT ที่มาจากทุกภูมิภาคได้กลับไปทำอะไรให้ภูมิภาคตัวเอง มันคือภาพที่ชัดมากของคำว่าจิตอาสา”
(ณฐมน วทนปรีชา)

ใต้เครือข่ายผู้ปกครอง
“ตอนแรกแม่ไม่ทราบเลยว่าทำไมนักเรียนตัดสินใจเลือกโรงเรียนนี้ เพราะแม่ก็ไม่รู้จักโรงเรียนนี้ พอดู Google Maps ก็เห็นว่าเป็นโรงเรียนค่อนข้างไกลจากตัวเมือง และเป็นโรงเรียนที่ขาดแคลนจริง ๆ จึงเข้าใจได้ว่าทำไมนักเรียนอยากมาช่วย ผู้ปกครองก็คุ้มค่าที่สละแรงกายแรงใจมาช่วยประสานงาน เรารู้สึกว่าได้มาช่วยจริง ๆ และเขาได้รับประโยชน์จริง ๆ” คือความรู้สึกของผู้ปกครองของณฐมน ผู้มีส่วนช่วยประสานงานให้ค่ายครั้งนี้สำเร็จลุล่วง
เนื่องจากทั้งนักเรียนและครู MWIT ไม่สามารถเดินทางไปสำรวจพื้นที่และเตรียมงานบางส่วนในพื้นที่เองได้ การประสานงานในพื้นที่ส่วนใหญ่จึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้ปกครองในพื้นที่ และเครือข่ายผู้ปกครอง MWIT ก็ยังเป็นฝ่ายสนับสนุนที่เข้มแข็งเสมอ
“พอรู้ว่าจะมีการจัดค่ายบำเพ็ญประโยชน์ของนักเรียน ผู้ปกครองก็ดีใจ เพราะนักเรียนจะได้ใช้ความรู้ตัวเองมาช่วยเหลือคนอื่น เป็นเวทีหนึ่งที่จะมาสร้างไอเดียให้น้องเล็ก ๆ ที่อาจจะไม่เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเราและนำมาประยุกต์อะไรได้บ้าง เมื่อเรียนต่อในชั้นมัธยม น้องจะได้อยากเรียนวิทยาศาสตร์หรือต่อยอดอะไรได้
เด็ก MWIT ถึงบางคนจะเป็นเด็กต่างจังหวัด แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในเมืองของต่างจังหวัด พอไปเรียน MWIT ซึ่งถือเป็นพื้นที่เมือง ก็อาจจะลืมรากเหง้าตัวเอง เด็ก ๆ จะได้รู้ว่ามีคนอยู่เบื้องหลังที่เขายังขาดแคลน เป็นการกระตุ้นให้ตระหนักว่าในระบบการศึกษายังมีจุดที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่ เพื่อจุดประกายให้เขาในอนาคต ต่อไปเมื่อไปช่วยเหลือใคร เขาจะได้รู้ว่าจะต้องมองจุดที่ขาดจริง ๆ”
เนื่องจากผลลัพธ์ที่เกิดแก่นักเรียน MWIT และโรงเรียนที่ไปจัดกิจกรรมให้ แม้กิจกรรมนี้จะใช้กำลังกาย กำลังใจ และกำลังคนมาก แต่ผู้ปกครองก็เห็นว่าประโยชน์ที่ได้กลับมาคุ้มค่ากับการลงทุน
“อยากให้มีทุกปีเลย คุณครูเหนื่อย นักเรียนเหนื่อย ผู้ปกครองเหนื่อยก็ใช่ แต่เห็นผลลัพธ์ก็หายเหนื่อย เหนื่อยแล้วกลับไปนอน ตื่นขึ้นมาก็หายแล้ว ค่าย 6 ภูมิภาคทำให้นักเรียนได้กลับไปต่อยอดที่บ้านเกิดตัวเอง ค่ายนี้จะสำเร็จไม่ได้เลยถ้าเครือข่ายผู้ปกครองไม่มาร่วมแรงร่วมใจขนาดนี้ ขอขอบคุณจริง ๆ และภูมิใจในตัวนักเรียนทุกคน”




ใต้ความรักและความรู้
ชื่อค่าย “ให้ความรักและความรู้” ไม่ได้มีความหมายว่า MWIT คือผู้ให้ แต่ทั้ง 2 โรงเรียนต่างให้ทั้งความรักและการเรียนรู้แก่กันและกัน พี่ ๆ MWIT อาจเป็นแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น น้อง ๆ ก็เป็นแรงบันดาลใจให้พี่ ๆ เรียนรู้จากการแบ่งปันและประสบการณ์ของน้อง
น้องโรงเรียนเอิ้นวิทยานุสรณ์ที่มาร่วมค่ายคือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4, 5 และ 6 รวม 50 คน กิจกรรมหลักในค่ายเริ่มจากสันทนาการเพื่อละลายพฤติกรรม จากนั้นจึงเป็นการทำกิจกรรมฐาน 5 ฐาน ได้แก่ ฐานวิทยาศาสตร์ 2 ฐาน, ฐานคณิตศาสตร์, ฐานภาษาอังกฤษ และฐานความรู้ทั่วไปเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หัวข้อในแต่ละฐานคือสิ่งที่พี่ MWIT ประยุกต์มาให้เห็นว่าความรู้ในบทเรียนนำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เพื่อจุดประกายให้น้อง ๆ ดังที่ ณฐมน กล่าวว่า
“การเรียนวันเดียวอาจไม่ได้ทำให้น้องเก่งขึ้น ไม่ได้เปลี่ยนชีวิตน้อง แต่อยากให้น้องเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการเรียน อย่างน้อยทำให้เขารักการเรียนมากขึ้น ทำให้เขาเห็นว่าวิชาต่าง ๆ ไม่ได้อยู่แค่ในตำรา แต่ปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ๆ”
บรรยากาศในค่ายเป็นไปอย่างสนุกสนานตั้งแต่เช้าถึงบ่าย พี่ ๆ นำกิจกรรมอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย น้อง ๆ ก็มีพลังเหลือเฟือในการทำกิจกรรม พี่บางคนที่สื่อสารภาษาใต้ได้ก็เลือกใช้ภาษาใต้กับน้อง พี่ที่ชอบเล่นกีฬาก็ลงสนามไปเล่นแชร์บอลกับน้องตอนพักเที่ยง บ้างก็ชวนคุยผลัดกันเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เวลา 8 ชั่วโมงในวันนั้นเพียงพอให้ต้นมิตรภาพเติบโต โดยมีครูและผู้ปกครองเป็นฝ่ายสังเกตการณ์และฝ่ายสนับสนุนอยู่ใกล้ ๆ





“นักเรียนที่นี่อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโรงเรียนมหิดลฯ อยู่ที่ไหน” คือประโยคที่เกิดขึ้นระหว่างที่ผู้เขียนสนทนากับผู้จัดการโรงเรียนเอิ้นวิทยานุสรณ์
ระยะทาง 982 กิโลเมตร (วัดจาก Google Maps) ระหว่าง 2 โรงเรียนนั้นอาจห่างไกลสำหรับการเดินทาง แต่การเดินทางไกลครั้งนี้ก็คุ้มค่าสำหรับการเติบโต ความรู้และความรักที่งอกงามขึ้นในค่ายอาจจะทำให้หลายคนพบว่าแท้จริงแล้ว “จะนะก็แค่ปากซอย”
ค่ายเริ่มจากความรู้คู่ความรัก
ให้ประจักษ์สองคำนี้มีความหมาย
“รักเรียนรู้” หลากวิชาหารอบกาย
“เรียนรู้รัก” แผ่ขยายด้วยไมตรี
ขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์:
น.ส.ณฐมน วทนปรีชา, นายกิตินัทธ์ แก้วรักษ์, นายกฤษณพงษ์ กอบกิจ, ผู้ปกครองของ น.ส.ณฐมน วทนปรีชา และอาจารย์รัตนา สุขสำราญ