
“ถ้าไม่ได้เรียนที่มหิดลวิทยานุสรณ์ ผมอาจจะไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์”
จากวันวานสู่วันพรุ่งนี้ ของ ดร.ทวีธรรม ลิมปานุภาพ
ผู้สัมภาษณ์: ณุจุฑา ธรรมสุเมธ
ผู้เรียบเรียง: ทวีธรรม ลิมปานุภาพ, ณุจุฑา ธรรมสุเมธ, ปิยรัตน์ แซ่อึ้ง
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
การวัดความสำเร็จของการศึกษาระดับมัธยมศึกษาของนักเรียนอาจประเมินจากการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในสาขาและสถาบันที่ตนเองต้องการ การวัดผลเช่นนี้ทำได้แทบจะทันทีที่มีนักเรียนสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียน หลายคนมักใช้วิธีการอย่างง่ายนี้เป็นตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียน หากเราไม่มองเพียงว่าโรงเรียนหรือสถานศึกษาเป็นเพียง “สถานที่” ให้การศึกษา แต่เป็น “สถาบัน” ที่สร้างคนให้สังคม คงต้องรอให้ศิษย์แต่ละคนเติบโตไปสร้างความเจริญงอกงามให้เป็นที่ประจักษ์ในเวทีระดับชาติและนานาชาติ แล้วหวนกลับมาบอกเล่าเรื่องราวให้ฟัง
ในบทความนี้ เรากำลังสะท้อนบทบาทและประเมินผลกระทบของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (MWIT) ผ่านเรื่องราวของ รองศาสตราจารย์ ดร.ทวีธรรม ลิมปานุภาพ นักเรียน MWIT รุ่นที่ 11 หนึ่งในผลสำเร็จที่โรงเรียนภาคภูมิใจ
มองย้อนวันวานที่ MWIT
“สิ่งที่เป็นผมในทุกวันนี้สร้างขึ้นมาจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์”
ส่วนสำคัญที่ทำให้นักเรียนคนหนึ่งค้นพบว่าตนเองอยากประกอบอาชีพอะไรในอนาคตคือการเรียนช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย ดร.ทวีธรรม ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 25631 เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ช่วยให้ค้นพบตัวตนและตั้งเป้าหมายที่จะเป็น “นักวิจัยและอาจารย์มหาวิทยาลัย” โดยสร้างความเชื่อมั่นให้ตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ว่าตนเองทำได้และอาชีพนี้มีความมั่นคง

“ถ้าไม่ได้เรียนที่มหิดลวิทยานุสรณ์ ผมอาจจะไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ มหิดลวิทยานุสรณ์ช่วยให้พวกเราเห็นว่าการทำงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์จัดเป็นวิชาชีพแขนงหนึ่ง อาชีพนี้สามารถให้ชีวิตที่สมเหตุสมผลกับความสามารถที่นักเรียนมีอยู่ โดยเฉพาะท่านผู้อำนวยการ ดร.ธงชัย (ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2544 – พ.ศ. 2552) ทำให้เกิดบรรยากาศที่ส่งเสริมความเชื่อดังกล่าว ท่านสนับสนุนและเชื่อมั่นอย่างมากว่ามันเป็นแบบนั้น”
รุ่นที่ 11 อยู่ในยุคการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์คือ เปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนประจำ 100% สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่มีความหลากหลายช่วยเสริมสร้างนักเรียนให้เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมากในเวลาอันสั้น ดร.ทวีธรรม เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรและการบริหารจัดการของโรงเรียนไม่ใช่เพียงสนับสนุนโดยตรง แต่ได้สร้างทัศนคติของการพัฒนาและเติบโตไปพร้อมกับโรงเรียน

“ผมเป็นรุ่นที่ 11 แต่ว่าเป็นรุ่นแรกของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ กล่าวคือ ให้นักเรียนอยู่ประจำทั้งหมด สอบเข้าทั้งหมด ปรับปรุงหลักสูตร เปลี่ยนแปลงบุคลากร ทุกอย่างปฏิวัติจากหน้ามือเป็นหลังมือในชั่วพริบตา แต่พวกเราอันประกอบไปด้วยทั้งคุณครู นักเรียน และบุคลากรสายสนับสนุน ก็พร้อมระดับหนึ่งพอที่จะเริ่มอะไรใหม่ได้บ้าง เราเรียนรู้และก้าวเดินไปด้วยกันตามสิ่งที่ท่านผู้บริหารบัญชาการลงมา”
“เรามีพื้นที่ให้ลองผิดลองถูก เช่น การเป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งขัน ก่อนมาอยู่มหิดลวิทยานุสรณ์ไม่ใช่ว่าผมจะได้เป็นตัวแทนโรงเรียนเก่าได้ง่าย ๆ นักเรียนต้องเป็น ‘ลูกหม้อ’ ของสาขานั้นก่อน แต่เมื่อย้ายมาอยู่ที่นี่ สาขาวิชาไหนก็ส่งผมไปแข่งเป็นตัวแทนโรงเรียนได้ ผมมีโอกาสได้เดินสายเก็บเกี่ยวประสบการณ์ล่ารางวัลไปทั่วประเทศไทยรวมถึงต่างประเทศ เกรดเฉลี่ยจะได้สี่บ้างหรือไม่ได้บ้างก็ไม่เป็นไร ถือเป็นความสนุกและความท้าทายที่เกิดขึ้นได้ที่นี่เพียงครั้งเดียว ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีรอยเท้าของรุ่นพี่ให้ต้องไปเดินตามมากนัก อีกส่วนก็เพราะโรงเรียนช่วยทุ่มเทอัดฉีดการสนับสนุนเข้ามาอย่างมาก”


“ในมุมที่ว่าทุกอย่างเป็นครั้งแรกของพวกเราและครั้งแรกของโรงเรียน ผมยังประทับใจทุกอย่างและยังจำได้ดีถึงวันนี้ แม้อาจจะไม่ได้ดีที่สุดในมาตรฐานของปัจจุบัน พวกเราก็สามารถทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อมกันได้ ถึงจะมีรุ่นพี่อยู่ก่อนตั้งสิบรุ่น แต่การทำอะไรที่แปลกแหวกแนวเกิดขึ้นที่เราเป็นรุ่นแรก ผมได้ทำโครงงานเดี่ยวเยอะมาก โครงงานวิทยาศาสตร์ได้พาผมไป ISEF (International Science and Engineering Fair) ที่สหรัฐอเมริกาสองครั้ง และได้รับรางวัลระดับนานาชาติกลับมา โครงงานวิทยาศาสตร์ยังพาผมไปออสเตรเลียและเยอรมนีอีกด้วย รวมเดินทางไปต่างประเทศเพราะโครงงานถึงสี่ครั้งโดยการสนับสนุนจากโรงเรียน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รวมถึงเอกชนคือไบเออร์และอินเทล”2
ในขณะที่นักเรียนสายวิทยาศาสตร์ในยุคนั้นนิยมศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ด้วยการหล่อหลอมและเพาะบ่มของโรงเรียนตลอดสามปี ทำให้ ดร.ทวีธรรม กล้าที่จะเลือกศึกษาต่อสาขาวิชาเคมี ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในวันนี้ ดร.ทวีธรรม พบแล้วว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและทำให้ตนเองมีความสุข
วันนี้ที่มากกว่าวิทยาศาสตร์
นอกจากวิทยาศาสตร์แล้ว ดร.ทวีธรรม ยังไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเองในด้านอื่น
“ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ของผมเป็นเนติบัณฑิตไทย เมื่อเรียนจบปริญญาเอกแล้ว ผมจึงรำลึกถึงความสำคัญว่าวิชาชีพกฎหมายเป็นสิ่งที่เลี้ยงผมมาตั้งแต่เล็กจนโต ก็เลยลองใช้สิ่งที่สั่งสมมาในชีวิตมาแปลงให้เป็นใบปริญญา เลือกไปเรียนที่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้นิติศาสตรบัณฑิตเป็นปริญญาตรีใบที่สอง ต่อมาผมได้รับตำแหน่งเป็นผู้บริหาร มีทีมงานสายสนับสนุนที่ส่วนใหญ่เรียนจบด้านการศึกษา จึงเรียน มสธ. สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาเป็นปริญญาตรีใบที่สาม”
ปัจจุบัน ดร.ทวีธรรม เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) ซึ่ง “ไม่ได้สอนแค่เคมีอย่างเดียว” แต่ยังได้มีบทบาทสำคัญในแวดวงการศึกษาและการวิจัย
“ในเวลากว่าสิบปีที่ MUIC ผมได้รับความไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่ในทางบริหารอยู่ถึงแปดปี ได้แก่ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และหัวหน้าสาขาวิชาเคมี แต่สิ่งที่ผมไม่ทอดทิ้งก็คืองานวิจัย ทำสุดความสามารถภายใต้เงื่อนไขที่นักศึกษาปริญญาตรีสามารถเข้ามาร่วมทำงานด้วยกันได้ ดังนั้นหัวข้อส่วนหนึ่งก็จะเป็นแนวการสอน (การวิจัยในชั้นเรียน) ซึ่งสามารถเห็นประโยชน์ ประยุกต์ใช้งานได้ทันที ความจริงแล้วก็ทำทั้งเคมีคำนวณ เคมีเชิงฟิสิกส์ และวิทยาศาสตร์แขนงอื่น แต่หัวข้อวิจัยด้านการศึกษาก็เป็นสิ่งที่ทำต่อเนื่องมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งมีพื้นฐานมาจากกิจกรรม Science Show ที่เริ่มฝึกฝนตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่โรงเรียน”

นอกจากทำงานร่วมกับนักศึกษาแล้ว ดร.ทวีธรรม ยังทำงานร่วมกับนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ด้วย เพื่อส่งต่อโอกาสในการเรียนรู้ให้แก่รุ่นน้อง
“บทบาทก็เปลี่ยนไปในเวลาที่เปลี่ยนไป ตอนที่จบไปไม่นานก็ช่วยติวน้อง ช่วงนั้นโรงเรียนเปิดโอกาสให้พวกผมอยู่หอพักที่โรงเรียนต่อได้อีกเทอมหนึ่งตอนที่เรียนที่ศาลายา จากนั้นก็ห่างกันไปเมื่อผมเข้าไปเรียนปีสองที่วิทยาเขตพญาไทและศึกษาต่อปริญญาเอกที่ออสเตรเลีย ซึ่งมีโอกาสได้เขียนบทความให้ในโอกาสที่ผู้อำนวยการครบวาระ3 เมื่อกลับมาทำงานที่ศาลายาจึงมีโอกาสกลับมาติดต่อกับโรงเรียนอีกครั้ง จำได้ว่าเคยเข้ามาเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือของโรงเรียนกับมหาวิทยาลัยด้วย ต่อมาก็รับเชิญมาพูด ทั้งพูดให้กับนักเรียนจำนวนไม่มากทีละห้องและพูดในห้องประชุมใหญ่ ล่าสุดได้ถวายการบรรยายพิเศษในงาน TISF 2023”

“สำหรับการทำงานร่วมกับน้อง มีทั้งการฝึกงานและการทำโครงงานวิจัย การวิจัยเพิ่งจะเริ่มไปได้ไม่มาก แต่ส่วนของการฝึกงานได้ทำมาหลายครั้ง มีนักเรียนผ่านไปแล้วหลายรุ่น โดยเริ่มต้นจากการทำงานผ่าน zoom ในช่วงโควิด เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ต่อมาจึงมีนักเรียนหลายคนสามารถเดินทางมาทำงานที่วิทยาลัยนานาชาติ”
“ในความโชคร้ายของโควิดก็มีความโชคดีที่เป็นโอกาสให้ผมได้เริ่มทำงานกับน้องจากโรงเรียน งานที่นักเรียนรับไปทำได้แบบออนไลน์ประสบผลสำเร็จอย่างดีในช่วงดังกล่าวคือการเขียนวิกิพีเดีย ซึ่งผมก็อธิบายหลักการให้ในเบื้องต้น จากนั้นก็ปล่อยไปทำเอง เหมือนจับโยนลงน้ำไปเลย น้องก็ว่ายกลับขึ้นมาได้เองเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงบางคนเท่านั้นที่เราอาจจะต้องตามไปงมขึ้นมา มีบทความที่นักเรียนเขียนขึ้นเป็นภาษาไทยจากการแปลบทความในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษได้รับคัดเลือกเป็น ‘บทความคัดสรร’ แสดงผลอยู่ในหน้าแรกของวิกิพีเดียตลอดทั้งเดือน และผมยังเสนอให้ใช้ทุนจากมูลนิธิวิกิมีเดีย (Wikimedia Foundation) สนับสนุนน้องไปร่วมการประชุม Wikimania 2023 ที่ประเทศสิงคโปร์อีกด้วย เป็นการส่งต่อโอกาสที่ผมเคยได้รับในอดีตแก่คนรุ่นต่อไป”
“การสอนน้องให้เขียนบทความในวิกิพีเดียมีคุณค่าในหลายมิติ ในเบื้องแรก เราสอนให้รู้จักประเมินคุณค่าและความน่าเชื่อถือของเนื้อหา เป็นการสอบทวนทางวิชาการทั่วไป แต่สิ่งที่ลึกซึ้งกว่านั้นคือ วัฒนธรรมการแบ่งปันความรู้ รวมถึงศิลปะการทำงานและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในโลกออนไลน์”
ในโลกของการทำงาน ดร.ทวีธรรม แสดงให้เห็นการพัฒนาตนเองอย่างไม่สิ้นสุด ทั้งจากการศึกษาในหลักสูตรและจากการทำงานหลากหลายบทบาท ดร.ทวีธรรม ไม่เพียงเป็นผู้ค้นพบประตูอันเป็นหนทางไปสู่โอกาสใหม่ และได้เดินทางผ่านมันไปแล้ว แต่ยังช่วยนำทางเปิดประตูรอให้คนรุ่นถัดไปเดินตามมาอีกด้วย









วันต่อไปที่สดใสกว่าเดิม
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ในวันวานทำให้ ดร.ทวีธรรม ค้นพบความฝันและต่อยอดไปได้ไกล ในฐานะนักเรียนเก่าที่เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จของโรงเรียนในวันนี้ ดร.ทวีธรรม มีสิ่งที่อยากบอกนักเรียนปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องการทำโครงงานซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาตนเองของนักเรียนในโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
“โครงงานวิทยาศาสตร์ไม่ยากเลยถ้าน้อง ‘มีใจ’ ให้มัน ส่วนใหญ่ผมทำโครงงานเดี่ยว ผมเป็นคนหาหัวข้อเอง ไม่เคยได้นับว่าทำงานไปกี่ชั่วโมง แค่ทำเต็มที่ตลอดเวลาที่เรามี สุดท้ายแล้วต้องยอมรับว่าโครงงานไม่เคยใช้เวลาหรืองบประมาณเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพราะการทำวิจัยที่แท้จริงเป็นการทำในสิ่งที่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน”
“อย่างไรก็ดี เราก็ต้องมีการวางแผนบริหารจัดการและจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตระดับหนึ่ง เรื่องการบริหารเวลาก็มีคนแนะนำให้เปรียบเทียบว่างานที่คล้ายกับงานนี้ใช้เวลาเท่าไร เพื่อนของเราใช้เวลาเท่าไร หรือคนที่มีความสามารถใกล้เคียงกับเราใช้เวลาเท่าไร ขงจื๊อกล่าวว่า ‘ปราชญ์เรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น คนโง่เรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง’ ความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้นทั้งหมด เราต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเองบางส่วนด้วย เช่น ในวิชาภาคปฏิบัติการก็ต้องเรียนจากการทดลองด้วยตนเอง แต่บางเรื่องเราไม่มีค่าประมาณเลยว่าใช้เวลาเท่าไร ก็ต้องไปยืมค่าประมาณจากคนอื่นว่าใช้เวลาเท่าไรเพื่อปรับใช้ให้เหมาะสม”
“ถ้าทำโครงงานเป็นกลุ่ม ควรเริ่มจากการเชิญคนที่มีศักยภาพเหมาะสมมาทำโครงงานและสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันในกลุ่มอย่างมืออาชีพ ไม่ใช่แค่ว่าเราเป็นเพื่อนรักกันมาก่อนเพียงอย่างเดียว โครงงานวิทยาศาสตร์ไม่ใช่กิจกรรมประเภท ‘เราไปกินข้าวหรือดูหนังที่ไหนกันดี’ โครงงานคือโจทย์ทางวิชาการ ควรจะเริ่มจากมีโจทย์ปัญหา แล้วพัฒนาทีมงานที่มีทักษะสำหรับแก้ไขปัญหาดังกล่าว”
“ทุกคนย่อมพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเวลาไม่พอ สมัยผมเวลาไม่พอ ผ่านมากว่ายี่สิบปีถึงสมัยของน้องเวลาก็ไม่พอเช่นเดียวกัน สมัยผมต้องหอบเอาโครงงานติดตัวไปทำด้วยทุกที่ ระหว่างค่าย สอวน. ในหอพักมหาวิทยาลัยศิลปากร ผมหอบเอาอุปกรณ์ปลูกพืชในสนามแม่เหล็กไปวางไว้ด้วยที่หัวเตียง ในค่ายโอลิมปิกวิชาการที่ สสวท. หรือวันสอบชิงทุนรัฐบาล ผมก็หอบเอาโครงงาน ISEF ไปทำด้วยตลอดเวลา ผมมีโอกาสสัมภาษณ์น้องหลายคนที่ประสบความสำเร็จในการทำโครงงาน มีทีมหนึ่งจากมหิดลวิทยานุสรณ์ตอบได้น่าประทับใจมาก นอกจากทักษะความเชี่ยวชาญของแต่ละคนจะแตกต่างกันแล้ว เวลาการทำงานก็ไม่ตรงกัน กลายเป็นโครงงานที่ไม่มีวันหลับใหลเพราะเวลานอนของพวกเขาไม่ตรงกัน (เทียบได้กับอาณาจักรที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน) นี่แหละโครงงานที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติกลับมาเป็นชื่อเสียงแก่ประเทศไทย”
จากนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบว่าตัวเองอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ผ่านการเรียนรู้หลากหลายสาขา และการทำงานหลากหลายบทบาทหน้าที่ ในวันนี้ ดร.ทวีธรรม ยังคงมีความฝันที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์

“ในฐานะครูวิทยาศาสตร์ ผมหวังว่าผู้ที่เคยได้มีโอกาสเรียนรู้กับผมไม่ว่าในชั้นเรียนหรือผ่านสื่ออื่นใดจะเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ และได้ใช้แนวคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตของเขาได้ ถึงแม้จะไม่ได้เรียนจบในสาขาวิทยาศาสตร์โดยตรง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควรจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ยกระดับคุณภาพชีวิตทุกคนให้ดีขึ้น โดยมาในรูปแบบที่ลึกซึ้งกว่าเพียงผลิตภัณฑ์และบริการที่ดูล้ำสมัยจากต่างประเทศ”
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงแนวทางพัฒนาโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ที่อยากเห็นในวันต่อไป แนวคิดของ ดร.ทวีธรรม ได้มองกว้างไกลไปมากกว่านั้น อันหมายถึงการศึกษาในระดับประเทศที่ได้รับการพัฒนาอย่างเท่าเทียม
“ผมคิดว่าวันที่มหิดลวิทยานุสรณ์ประสบความสำเร็จคือวันที่ไม่จำเป็นต้องมีมหิดลวิทยานุสรณ์ หมายความว่าถ้าทุกโรงเรียนสามารถส่งเสริมโอกาสให้นักเรียนได้ดีอย่างมหิดลวิทยานุสรณ์ ก็ไม่จำเป็นต้องรวมศูนย์กลางแห่งโอกาสไว้ที่ศาลายาอีกแล้ว แม้ว่าคงยังไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ แต่เราควรทำใจยอมรับเหตุการณ์นี้ให้ได้”
“สิ่งสุดท้ายที่อยากฝากให้น้องคือ อย่าติดกับดักที่จะต้องรอคอยให้คนอื่นมาบอกว่าเราจะต้องทำอะไร อย่าเพียงรอว่าจะมี ‘ทุนการศึกษา’ ‘ทุนวิจัย’ ‘โครงการประกวดแข่งขัน’ หรือ ‘ตำแหน่งงาน’ ที่เคยมีคนรุ่นก่อนเดินทางผ่านสำเร็จไปแล้ว ขอให้เชื่อมั่นว่าพวกเราที่ผ่านมาได้ถึงจุดนี้สามารถนำสถานการณ์และทรัพยากรที่ปรากฏอยู่ต่อหน้ามาใช้ให้เหมาะสมได้ อย่าให้คำตอบสำเร็จรูปหรือค่านิยมในประเทศไทยมาเป็นตัวกำหนดทางเดินในชีวิต เราสามารถประสบความสำเร็จได้บนหนทางที่เราสร้างขึ้นมาเอง มิใช่เลือกเดินไปตามผู้อื่นเท่านั้น และถ้าเป็นไปได้จงแบ่งปันหรือสร้างโอกาสในทางสายใหม่ให้แก่ผู้อื่นด้วย”
“สำหรับคนที่คิดว่าเราเป็นแค่คนตัวเล็ก ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ หรือคนที่จะขอเลือกเฉพาะเส้นทางเดินที่ง่ายและมั่นคง ขอให้คิดใหม่อีกครั้ง ผมเชื่อว่าสิ่งที่มหิดลวิทยานุสรณ์สร้างได้ไม่ใช่เพียงความเก่งในเชิงวิชาการ แต่ยังเป็นทัศนคติที่จะเป็นผู้นำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ในสังคม”4
เชิงอรรถ
1รางวัลที่มอบเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ พ.ศ. 2534 พิจารณาจากนักวิทยาศาสตร์ไทยอายุไม่เกิน 35 ปีที่ทำการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์พื้นฐานอย่างจริงจัง มีคุณธรรมและมนุษยสัมพันธ์ที่ดี โดยมีผลงานคุณภาพที่ทำในประเทศไทยและเผยแพร่ในวารสารที่มีมาตรฐานระดับสากล
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์. (2563). รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2563. มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์.
2สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. (2549). บันทึกท่องโลกเทคโนโลยี. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ.
3โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์. (2552). นี่คือจุด บันทึกการพัฒนาอัจฉริยภาพเยาวชนไทย. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์.
4สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. (2561). บ่มเพาะนักวิทย์ คิดเพื่อสังคม. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ.