ปิยรัตน์ แซ่อึ้ง
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
Email:
ผู้เขียนเป็นผู้ดำเนินการหลักของกิจกรรมประกวดแต่งร้อยกรองตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ที่เข้ามาทำงานที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ แรกเริ่มกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดประกวดแข่งขันทักษะภาษาไทยเนื่องในวันสุนทรภู่ซึ่งประกอบด้วยการประกวดแข่งขันหลายรายการ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และความสามารถพิเศษเพิ่มเติมจากด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ กิจกรรมประกวดแข่งขันทักษะภาษาไทยจัดอย่างต่อเนื่องทุกปี เมื่อสาระการเรียนรู้ภาษาไทยย้ายมารวมอยู่ในสาขาวิชาศิลปศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สังคมศึกษา และศิลปะ จึงได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดและรูปแบบกิจกรรมให้มีการบูรณาการข้ามกลุ่มสาระ มีความสอดคล้องกับบริบทและยุคสมัย โดยใช้ชื่อว่า “การประกวดแข่งขันทักษะศิลปศาสตร์”
กลอนสด…ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย
ในปีแรก ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้จัดการประกวดแต่งกลอนสดในรูปแบบกลุ่มดังเช่นทุกปีที่ผ่านมา การประกวดในปีนั้นมีนักเรียนสมัครร่วมกิจกรรมค่อนข้างน้อย จากการสังเกตบรรยากาศตอนประกวดและสอบถามนักเรียนในภายหลังจึงได้ทราบว่า การประกวดเป็นกลุ่มทำให้นักเรียนต้องหาเพื่อนที่สนใจเหมือนกันซึ่งหาได้ค่อนข้างยาก กลุ่มที่มาประกวดก็จะมีคนแต่งหลักเพียงคนเดียว ส่วนที่เหลือสมัครมาเพื่อให้มีสมาชิกกลุ่มครบ นอกจากนี้ผลงานยังมีข้อผิดพลาดค่อนข้างมากและขาดชั้นเชิง ทั้งที่นักเรียนบางคนสามารถแต่งร้อยกรองในรายวิชาพื้นฐานได้ดี
หลังจากการประกวดครั้งนั้น ผู้เขียนจึงตั้งใจว่าปีต่อไปจะลองเปลี่ยนรูปแบบเป็นการประกวดแต่งกลอนกระดาษแทน
กลอนสดสู่กลอนกระดาษ
ปีต่อมา (พ.ศ. 2560) ผู้เขียนจัดการประกวดกลอนกระดาษ หัวข้อ “ถ้าชาติไทยไร้ครูกลอนสุนทรภู่” โดยให้พิมพ์หรือเขียนในกระดาษ และส่งผลงานที่ห้องสาขาวิชาภาษาไทย กำหนดระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
การปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมทำให้มีผลงานส่งเข้าประกวดจำนวนมากขึ้น และสามารถแก้ปัญหาให้ผู้ที่สนใจสร้างสรรค์ผลงาน แต่หาเพื่อนร่วมกลุ่มมาประกวดด้วยไม่ได้ อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสให้ผู้ที่ไม่สามารถหรือไม่ถนัดแต่งร้อยกรองในระยะเวลาสั้น ๆ ภายใต้ภาวะกดดัน ผู้เขียนจึงคงรูปแบบการประกวดนี้ในปีต่อ ๆ มา โดยกำหนดหัวข้อให้แปลกใหม่ และได้รับความสนใจจากนักเรียนเพิ่มขึ้นในทุกปี
การระบาดของโควิด-19 ทำให้นักเรียนต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน การเรียนการสอนและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนต่าง ๆ ของโรงเรียนจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้นักเรียนยังสามารถเรียนรู้ได้แม้ไม่ได้เข้ามาที่โรงเรียน ใน พ.ศ. 2563 จึงปรับเปลี่ยนกิจกรรมประกวดแต่งร้อยกรองให้นักเรียนส่งผลงานทางอีเมล หลังจากปีนั้นแม้สถานการณ์โควิดจะคลี่คลายแล้ว ก็ยังคงให้นักเรียนส่งผลงานทางอีเมล และเปลี่ยนเป็นส่งผลงานทาง Google Forms ในเวลาต่อมา

การปรับเปลี่ยนรูปแบบจากกลอนสดเป็นกลอนกระดาษ ทำให้มีผลงานส่งเข้าประกวดจำนวนมาก และผลงานส่วนใหญ่มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งเนื้อหาและกลวิธี เพราะนักเรียนมีเวลาในการสร้างสรรค์ผลงาน
นอกจากนี้นักเรียนส่วนใหญ่ของโรงเรียนนี้ไม่ได้เป็นนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านการแต่งร้อยกรอง จึงอาจไม่ถนัดแต่งร้อยกรองในระยะเวลาอันสั้น แต่สิ่งที่นักเรียนจำนวนไม่น้อยมีคือ ความสนใจการแต่งร้อยกรอง ความสามารถในการสืบค้น ความคิดสร้างสรรค์ และความเพียรพยายาม สิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านผลงานในทุกปี การประกวดกลอนกระดาษจึงเป็นรูปแบบที่เหมาะสมและเอื้อต่อนักเรียนในวงกว้าง
กลอนโหวต…ครั้งแรก
พ.ศ. 2566 กิจกรรมประกวดแข่งขันทักษะศิลปศาสตร์จัดในธีม “พลเมืองไทย – พลเมืองโลก” และการประกวดแต่งร้อยกรองกำหนดหัวข้อ “สังคมพหุวัฒนธรรม” เพื่อให้สอดคล้องกับคำสำคัญในเป้าหมายประการหนึ่งของหลักสูตรใหม่ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ให้ครูและนักเรียนร่วมโหวตรางวัลขวัญใจมหาชนในรายการนี้ (ปีก่อนหน้ามีการโหวตรางวัลขวัญใจมหาชนในบางรายการประกวด เช่น ร้องเพลง วาดภาพ) โดยให้โหวตผ่าน Google Forms และต้องเขียนอธิบายเหตุผลที่เลือกผลงานดังกล่าวด้วย กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนผู้โหวตได้ฝึกวิเคราะห์ มีส่วนร่วมในการตัดสินผลงาน และอาจได้แรงบันดาลใจจากการอ่านผลงานของผู้อื่น นอกจากนี้เจ้าของผลงานยังเกิดความภาคภูมิใจที่มีผู้ชื่นชอบผลงานของตนเอง

การโหวตกลอนรางวัลขวัญใจมหาชนครั้งแรกนี้มีนักเรียนร่วมโหวตทั้งสิ้น 199 คน ผลงานที่ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ “สังคมพหุวัฒนธรรมของแมว” (19.8%), “เจ็ดแดนไกล ไตรสมุทร สุดพหุ” (16.8%) และ “ณ ร้านผัดเทศผัดไทย” (15.7%) ผลงานกลอนที่ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก เป็นกลอนที่มีลักษณะเด่นด้านกลวิธี คือ ความเปรียบ การสรรคำ และการเล่นเสียง สอดคล้องกับเหตุผลที่นักเรียนส่วนใหญ่อธิบายคือ เลือกเพราะกลวิธีและความคิดสร้างสรรค์ เช่น
- มีการเปรียบเทียบกับสังคมของสัตว์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่เห็นได้ทั่วไป เป็นการแสดงความคิดสร้างสรรค์ของผู้แต่ง มีการใช้คำที่สละสลวย อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าในสังคมของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแมวหรือคน ก็ล้วนมีความแตกต่างทั้งเรื่องรูปลักษณ์ ภาษา ขนบธรรมเนียม แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้
- ชอบการนำมาเปรียบเทียบกับแมว และในแง่ที่เอามาเปรียบเทียบนั้นก็ค่อนข้างแปลกใหม่ ทำให้ได้เก็บไปคิดต่อ เปิดมุมมองใหม่ ๆ ชอบในความคิดสร้างสรรค์ และด้านวรรณศิลป์ มีการใช้คำไวพจน์ค่อนข้างมาก มีการเล่นสัมผัส

เหตุผลของนักเรียนแสดงให้เห็นว่า นักเรียนสามารถพิจารณาร้อยกรองด้วยหลักการวิเคราะห์วิจารณ์วรรณกรรมได้ ส่วนเหตุที่นักเรียนส่วนใหญ่เลือกกลอนที่โดดเด่นด้านกลวิธี ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะผลงานที่ผ่านเข้ารอบโหวตทั้ง 12 ผลงานนำเสนอแนวคิดคล้ายกัน จึงทำให้สิ่งที่สัมผัสใจนักเรียนผู้อ่านไม่ใช่เนื้อหา แต่เป็นกลวิธีซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างหลากหลายของผลงาน กิจกรรมนี้เป็นทั้งการเผยแพร่ผลงานของนักเรียนผู้เขียน และการส่งเสริมให้นักเรียนผู้อ่านได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์
กระแสสังคมและบริบทที่เปลี่ยนไปเป็นปัจจัยสำคัญของการออกแบบกิจกรรมประกวดแต่งร้อยกรองในแต่ละปี เป้าหมายสำคัญคือ เพื่อให้กิจกรรมยังคงส่งเสริมและพัฒนานักเรียนได้ตามเป้าประสงค์ มีความน่าสนใจมากพอที่จะกระตุ้นให้นักเรียนอยากมีส่วนร่วม และเพื่อให้กิจกรรมนี้ยังคงอยู่สืบเนื่องต่อไป ไม่ใช่เพียงเพราะต้องการรักษาสิ่งที่เคยทำมา แต่เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนนี้ที่ชื่นชอบการเขียน ยังคงมีพื้นที่เล็ก ๆ ให้ได้แสดงความสามารถ
การจัดกิจกรรมประกวดแต่งร้อยกรองถือเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนานักเรียนให้มีความรู้ความสามารถ “รอบด้าน” ตามจุดเน้นของหลักสูตรโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ในมิติของการเรียนรู้ความเป็นไทยผ่านความงามของภาษา 8 ปีในการจัดกิจกรรมทำให้เห็นว่านอกจากนักเรียนของโรงเรียนนี้จะมีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์แล้ว ยังมีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่มีความสนใจในการแต่งร้อยกรองด้วย การสร้างสรรค์ผลงานภายใต้โจทย์ที่กำหนดทำให้นักเรียนต้องใช้ทั้งการสืบค้นความรู้ที่เกี่ยวข้อง การตีความ ความคิดสร้างสรรค์ และกลวิธีทางภาษา ซึ่งทักษะเหล่านี้สามารถนำไปปรับใช้ในการใช้ภาษาสื่อสารรูปแบบอื่นได้