สุภวัฒก รัตนเมกุล
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
Email:
จากผู้สมัครกว่าหนึ่งหมื่นคน สู่การเป็นหนึ่งใน 600 คนที่ผ่านเข้าสู่การสอบคัดเลือกรอบสุดท้ายเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (MWIT) พวกเขาทั้งหมดคือสุดยอดหัวกะทิ และในวันที่ 13 มกราคม 2567 เวลา 9.30 น. การสอบรอบสุดท้ายก็เริ่มต้นขึ้น เวลาสอบ 2 ชั่วโมง 30 นาทีอาจเป็นเวลาที่แสนสั้น แต่สำหรับผู้เข้าสอบแล้ว นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาไปตลอดกาล
เมื่อการสอบรอบนี้จบลง สิ่งต่อไปที่ผู้เข้าสอบจะได้เจอคือ กิจกรรมที่พี่ ๆ นักเรียน MWIT ระดับชั้น ม.4 และ ม.5 กว่า 200 ชีวิต เตรียมการมานานกว่า 6 เดือน เพื่อจุดประสงค์เพียงหนึ่งเดียว นั่นคือ เพื่อให้น้อง ๆ ได้รู้จัก MWIT มากขึ้น และตัดสินใจได้ว่า MWIT เหมาะกับตนเองหรือไม่
ค่าย Pre-MWIT หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “ค่ายพรีฯ” จัดขึ้นเพื่อให้ว่าที่นักเรียน MWIT รุ่นถัดไปได้เข้ามาศึกษาความเป็นอยู่ภายในหอพัก กิจกรรม หลักสูตร เนื้อหาวิชาการ และมิติอื่นที่พี่ ๆ อยากให้น้องรู้ นอกจากนี้ค่ายนี้ยังมีชื่อเสียงเล่าลือกันอีกด้วยว่า
“การเข้าค่ายพรีฯ ช่วยให้ตัดสินใจมาเรียน MWIT”
ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ค่าย Pre-MWIT ถูกจัดแบบออนไลน์ติดต่อกันถึง 2 ปี จนในปี พ.ศ. 2566 ค่าย Pre-MWIT กลับมาจัดแบบออนไซต์อีกครั้ง กีวี นักเรียน MWIT รุ่น 31 ประธานค่าย Pre-MWIT ในปีนั้น ได้เล่าถึงจุดมุ่งหมายในการทำค่ายของเขาตอนอยู่ ม.5 ว่า
“ผมได้ฟังเรื่องกิจกรรมค่ายพรีฯ มาจากรุ่นพี่โรงเรียนเก่า 5 รุ่นที่แล้ว ภาพที่พี่เล่าให้ฟังมันดีมาก น่าสนุกไปทุกอย่าง แต่ตอนปีที่เราเข้าค่ายพรีฯ ปีนั้นเป็นค่ายออนไลน์ มันก็ไม่ค่อยมีประสบการณ์อะไรมากมาย แต่ก็ยังสนุกนะ ได้เปิดกล้องเปิดไมค์คุยกับพี่ ๆ แล้วก็เล่นกิจกรรม แต่พอมาปีเรา ผมที่เป็นประธานค่ายพรีฯ ก็ตั้งใจว่า ค่ายนี้ควรจะมีสิ่งต่าง ๆ เหมือนปีเก่า ๆ มากที่สุด พวกพี่แฝง เพลงรักน้อง การบูมมหิดลฯ ท่าสันทนาการแปลก ๆ ละครค่าย อยากให้มันกลับมาหมดเลย เพราะเราคิดว่าถ้าไม่กลับมาปีนี้ มันจะหายไปตลอดกาลแน่ ๆ เพราะคนที่มีประสบการณ์ในค่ายออนไซต์ปีสุดท้ายคือรุ่นพี่ MWIT 30 จะไปเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว จากนั้นเราก็เตรียมงานไปเรื่อย ๆ ในวันจริงเราได้รู้ว่า บรรยากาศภายในโรงเรียน การเทกแคร์จากพี่ กิจกรรม และความใส่ใจ ทำให้ใคร ๆ ก็อยากมา MWIT กัน”
เมย์มี่ นักเรียนชั้น ม.4 (MWIT รุ่น 33) ที่เคยเข้าค่าย Pre-MWIT ในปีนั้นเล่าว่า ตอนที่เธอสอบติดทั้ง MWIT และเตรียมอุดมศึกษา คุณแม่ของเธอแนะนำว่าควรเรียนที่ MWIT และเธอก็ไม่ได้ค้านอะไร เพราะเธอชื่นชอบค่าย Pre-MWIT เมื่อเธอเข้ามาใน MWIT เธอก็รู้สึกขอบคุณความพยายามของเธอ
“สังคมของ MWIT ดีมาก ๆ พี่ ๆ ดูแลเราดี เรารู้สึกอบอุ่น เราอยากส่งต่อให้รุ่นน้องว่า MWIT มันเป็นยังไงในแบบของเรา เราเลยเลือกมาเป็นพี่ประจำกลุ่มในค่าย Pre-MWIT ปี 2567 เพื่อจะได้เจอน้องเยอะ ๆ หลังจากทำงานมา เรามั่นใจว่าเราทำดีที่สุดเพื่อน้อง เราทำแบบของเรา คือตัวเราก็ไม่ได้เหมือนกับพี่ ๆ นัก แต่เราก็คิดว่าน้อง ๆ จะได้เห็นโรงเรียนอย่างที่เราและเพื่อนในรุ่นเป็น”

(ที่มา: เพจ Facebook “Pre-MWIT 2024: Legend Once Said”)
ในปี 2567 การเตรียมการของค่าย Pre-MWIT เปลี่ยนไปมาก เพราะมีค่ายปี 2566 เป็นตัวอย่าง ความกดดันและความคาดหวังจึงถาโถม แก้ม ประธานค่าย Pre-MWIT เป็นอย่างมาก เธอเล่าให้ฟังว่า “เป้าหมายของเราคือ อยากให้น้อง ๆ จดจำค่ายพรีฯ ได้ และช่วยให้น้องตัดสินใจว่าจะเข้า MWIT หรือไม่ เราอยากให้น้องได้เห็นทุกอย่าง เห็นตามความเป็นจริง ไม่มีเรื่องเสริมแต่ง เราไม่ได้อยากให้น้องเห็นเราเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุด เราแค่อยากให้น้องรู้ว่าโรงเรียนนี้เหมาะกับน้องหรือเปล่า”
หลังจากการรอคอยกว่า 6 เดือน วันที่ 13 มกราคม 2567 หรือวันแรกของค่าย Pre-MWIT 2024 ก็เริ่มขึ้น พี่ประจำกลุ่มกว่า 200 ชีวิตต่างเฝ้ารอน้อง ๆ ม.3 ที่บริเวณประตูข้างโรงเรียน รถแต่ละคันที่ขับเข้ามาในเวลาบ่ายเศษจอดอยู่หน้าประตู พ่อแม่ผู้ปกครองของน้อง ๆ ต่างก็เดินมาส่งถึงบริเวณโต๊ะลงทะเบียน กอดและหอมแก้มเป็นการอำลา ก่อนจะปล่อยให้ลูกหลานของตนไปอยู่ในการดูแลของพี่ ๆ นักเรียน MWIT เป็นเวลาประมาณ 2 วัน
เมื่อหมดเวลาการลงทะเบียน ก็ถึงเวลาที่น้อง ๆ แยกย้ายไปตามกลุ่มของตัวเอง น้องจะได้รู้จักทั้งพี่และเพื่อนภายในกลุ่ม ได้รู้จักโรงเรียนในเบื้องต้นผ่านการบรรยาย กิจกรรมสันทนาการ ละครค่าย และกิจกรรมเกมใหญ่ในช่วงค่ำ จากนั้นจึงได้รู้จักระบบหอพักจากการเข้าพักจริง
ในวันที่ 2 กิจกรรมของค่าย Pre-MWIT เข้าสู่เนื้อหาวิชาการ เช่น การอธิบายหลักสูตรวิชาพื้นฐาน หลักสูตร สอวน. วิชาเพิ่มเติมต่าง ๆ ที่นักเรียนจะเลือกเรียนได้ตั้งแต่ ม.4 เทอม 2 รวมไปถึงกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมฐานที่ตั้งอยู่ในศูนย์กีฬา ใต้หอพัก ไปจนถึงสวนพฤกษศาสตร์และโรงฝึกงาน นอกจากนี้พี่คณะจัดทำค่ายได้เพิ่มกิจกรรม STEM Challenge เพื่อให้น้อง ๆ ได้ฝึกทักษะการคิดเชิงวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อแก้ปัญหาที่กำหนดให้
เมื่อจบการทำกิจกรรม STEM คอนเสิร์ตเล็ก ๆ ที่ถอดแบบมาจากกิจกรรมดนตรีใต้หอก็เริ่มต้นขึ้น เสียงเพลงที่ร้องออกมาจากการฝึกฝนอย่างหนักของพี่ ๆ MWIT อาจไม่ได้ไพเราะที่สุด แต่ก็กลั่นมาจากความพยายามร่วมเดือนที่อยากให้น้อง ๆ สนุกไปด้วยกัน
หลังจากนั้นเป็นกิจกรรมละครค่ายตอนที่ 2 และสรุปกิจกรรมว่าใน 2 วันที่ผ่านมาแต่ละกลุ่มได้คะแนนเท่าไร จากนั้นจึงมอบรางวัล เมื่อพิธีมอบรางวัลจบลงไม่นาน ไฟในห้องก็ดับลง ต้นเสียง “เจ้านกน้อยล่องลอยโผบิน สู่แผ่นดินทะเลสีคราม ความเหงาเอยมาคอยเหยียบย่ำให้ทรมาน” ก็เริ่มขึ้น พี่ ๆ เริ่มร้องเพลง “รักน้อง” มาจากกลางสนามบาสเกตบอล พี่ประจำกลุ่มที่รออยู่ระหว่างทางก็ร้องท่อนถัดไปในขณะนั้นเองน้อง ๆ ที่นั่งอยู่บนหอประชุมก็หลับตา ลุกขึ้นยืน และค่อย ๆ เดินตามมือของเพื่อน ๆ ที่เกาะอยู่กับพี่ประจำกลุ่มด้านหน้า ทั้งเสียงร้องเพลง เสียงเดิน ขั้นบันได และความมืดต่างเข้ารบกวนจิตใจของน้อง ๆ ม.3 แต่เสียงของพี่ ๆ ที่พูดว่า “ระวังขั้นบันไดนะคะ” “อย่าปล่อยมือพี่นะ” “ตรงนี้มีทางต่างระดับนะ” “ขั้นสุดท้ายแล้วครับ” ก็เป็นสัญญาณแทนความในใจว่าพี่จะไม่ปล่อยมือจากน้อง ขอแค่น้องไว้ใจพี่และก้าวเดินไปข้างหน้า พี่ MWIT จะคอยอยู่ข้าง ๆ เพื่อให้น้องไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ
เมื่อน้องทุกคนเดินมาถึงสนามบาสเกตบอล เสียงเพลงรักน้องก็จบลง ไม่นานนักน้อง ๆ ก็ลืมตาขึ้น และเมื่อหันมองไปด้านข้าง ก็พบว่ามีเพื่อนหนึ่งคนที่หายไปจากกลุ่ม และนั่นก็คือพี่แฝง พี่ที่มีหน้าที่แสดงเป็นเพื่อน ๆ ของน้องภายในกลุ่ม คอยพูดคุยซักถามสารทุกข์สุกดิบ เพื่อให้กิจกรรมภายในค่ายเป็นที่น่าจดจำสำหรับน้องทุกคน
เมื่อกิจกรรมในค่ำคืนนี้มาถึงช่วงสุดท้าย พี่ ๆ ทั้ง ม.4, ม.5 และ ม.6 ต่างเสียงแหบแห้ง แต่ด้วยความรักในค่าย Pre-MWIT และความต้องการส่งต่อความรู้สึกดี ๆ ให้น้อง ๆ ม.3 ทำให้พวกเขายังคงร้องเพลงรักน้องอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ประธานและรองประธานค่ายกล่าวความในใจจบแล้ว ท่ามกลางวงล้อมของคณะจัดทำค่าย ต้นเสียง “บูมมหิดลพร้อม” ก็ดังขึ้น และเสียงตอบรับของวงล้อมนักเรียน MWIT “พร้อมนำพร้อมทำพร้อมจะสู้” ก็ร้องตอบจนกระทั่งเพลงจบลง
หลังจากมีความสุขไม่นานก็ถึงเวลาจากลา น้อง ๆ กลับเข้าไปรวมกับกลุ่มของตนเอง ไม่มีน้ำตาแห่งความเสียใจจากพี่ ๆ ประจำกลุ่ม มีแต่น้ำตาแห่งความสุขที่ได้อยู่กับน้อง ๆ แม้จะเป็นเวลาไม่นาน แต่ความรู้สึกผูกพันระหว่างพี่กับน้องก็แน่นแฟ้นจนเหมือนรู้จักกันมานานแรมปี
อิงและมิกกี้ คือหนึ่งในนักเรียนชั้น ม.3 ที่ในตอนแรกพวกเขาไม่ได้รู้จัก MWIT มากนัก อิงบอกว่าสมัครค่าย Pre-MWIT เพราะเพื่อนอยากสมัคร และมาเข้าค่ายนี้เพราะเพื่อนมา ในขณะที่มิกกี้เล่าว่าพอจะรู้จัก MWIT อยู่บ้างว่าเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ที่มีนักเรียนเก่ง ๆ เต็มไปหมด และมีหลักสูตรไม่เหมือนโรงเรียนทั่วไป
แต่หลังจากเข้าค่าย Pre-MWIT อิงได้เล่าว่า “ตอนแรกคิดว่าโรงเรียนนี้น่าจะมีแต่เด็กเนิร์ด ๆ ไม่ค่อยพูด น่าจะเรียนทั้งวัน” และมิกกี้เสริมว่า “ภาพในหัวเราคือพี่ ๆ เนิร์ด ๆ นั่งเรียน ไม่พูดไม่จา แต่พอมาเจอจริง ๆ พี่ ๆ พูดคุยกันตลอด เชียร์อัปเรา แล้วก็ทำให้เรารู้สึกดีมาก ๆ กิจกรรมสันทนาการสนุกมาก พี่ ๆ ดูมีความสุขไปกับสิ่งที่ตัวเองทำ เราก็เลยสนุกตามเขาไปด้วยเลย”
เมื่อถามถึงความอยากเข้ามาเรียนที่ MWIT มิกกี้ตอบว่า “ต้องขอบคุณพี่ ๆ ที่คอยดูแลเรา จัดค่าย คุยเล่นกับเรา เรามีความสุขมาก MWIT จริง ๆ น่าสนใจกว่าที่เราเคยเห็น เราอยากเข้ามากขึ้นเพราะเพลงรักน้องเมื่อคืน เรารู้สึกพิเศษมาก ๆ พี่ ๆ น่ารัก แล้วก็โรงเรียนน่าเรียน” อิงเสริมว่า “พี่ ๆ ใส่ใจเราดีมาก ช่วยเราทุกอย่าง พาเล่นกิจกรรม ถ้าถามว่าอยากเข้าแค่ไหน นอกจากที่นี่ก็ไม่ได้ลงที่ไหนเป็นพิเศษ และพอเข้าค่ายเสร็จก็อยากเข้า MWIT มากที่สุด ถ้าสมมติว่าติดก็เข้าแน่นอน”
จากน้อง ๆ ที่สมัครเข้าค่าย Pre-MWIT กว่า 370 คน บางคนอาจสมหวัง ได้เข้าเรียนที่ MWIT เป็นหนึ่งใน 240 คนของนักเรียนรุ่น 34 และบางคนอาจไม่สมหวัง หรือเลือกไปเรียนตามเส้นทางของตนเอง แต่สิ่งที่พี่ ๆ MWIT อยากส่งต่อให้น้อง ๆ คือ ความพยายามและความตั้งใจเพื่อให้น้อง ๆ มีความสุข และได้รู้จัก MWIT ในแบบที่ MWIT เป็นจริง ๆ
แม้ว่าในวันที่ 15 มกราคม 2567 เวลา 12.00 น. ค่าย Pre-MWIT 2024: Legend Once Said ได้สิ้นสุดลงแล้ว แม้ 3 วันที่อยู่ด้วยกันอาจเป็นเวลาที่แสนสั้น แต่ “ตำนาน” ที่เราร่วมกันเล่าขานนี้จะตราตรึงในใจตลอดไป
ดอกไม้แย้มกลีบ บานแล้วในใจฉัน จงหอมชั่วนิรันดร์ มิโรยร่วงผ่านจากใจเราผอง…

(ที่มา: เพจ Facebook “Pre-MWIT 2024: Legend Once Said”)
ผลงานของนักเรียนในรายวิชาเพิ่มเติม “การเขียนสารคดี” ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 สอนโดย อาจารย์ปิยรัตน์ แซ่อึ้ง สาขาวิชาศิลปศาสตร์