โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จัดกิจกรรม Leadership Camp ชวนเพื่อน ๆ จากโรงเรียนกลุ่มวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ร่วมคิดโครงการแก้ไขปัญหาท้องถิ่นหรือพัฒนาชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้กับชุมชนและสังคมในท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 1 เมษายน พ.ศ. 2568 ณ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
“Leadership Camp” เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการบูรณาการกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่หลากหลายของนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่การสร้างประโยชน์ หรือ Community Engagement Program: CEP ที่มีเป้าหมายให้นักเรียนเกิดการพัฒนาทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Problem-Solving) โดยคำนึงถึงผู้ใช้หรือชุมชนในทุกขั้นตอนของการพัฒนาโครงการ นักเรียนได้เรียนรู้กระบวนการ Design Thinking ตั้งแต่การเข้าใจปัญหา (Empathize) การนิยามปัญหา (Define) การสร้างแนวคิดใหม่ (Ideate) การสร้างต้นแบบ (Prototype) และการทดสอบ (Test) เพื่อให้สามารถออกแบบโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการและแก้ไขปัญหาของชุมชนได้จริง อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
การจัดกิจกรรมในโครงการนี้ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ไม่เพียงแต่เป็นการขยายความร่วมมือและสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่ง และโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งประกอบไปด้วย โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบวรนิเวศศาลายา โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม โรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย และโรงเรียนราชินีบูรณะ หากแต่ยังเป็นต้นแบบในการพัฒนานักเรียนให้เป็นผู้นำเยาวชน “พลเมืองที่เข้มแข็ง” (Active Citizen) ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมที่จะต่อยอดความรู้และประสบการณ์สู่การพัฒนาและสร้างประโยชน์ในระดับที่กว้างขึ้นต่อไปในอนาคต
กิจกรรมภายในค่ายนั้น วันแรกนักเรียนทั้งหมดได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติในการเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงชุมชน และกระบวนการ design thinking กับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม จากนั้นในวันที่สอง นักเรียนได้ลงพื้นที่สำรวจชุมชนต่าง ๆ โดยรอบ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่
- สายที่ 1 ชุมชนคลองจินดา
- สายที่ 2 ชุมชนงิ้วราย
- สายที่ 3 บ้านศาลาดิน
- สายที่ 4 ชุมชนสาลวัน 1
- สายที่ 5 ชุมชนสาลวัน 2
- สายที่ 6 ชุมชนตลาดท่านา
ก่อนที่ทั้งหมดจะกลับมายังโรงเรียน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและวางแผนนำเสนอกระบวนการออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหาในวันรุ่งขึ้น ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างนำปัญหาที่พบเจอจากการสำรวจชุมชน มาออกแบบกิจกรรมผ่านการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี
ทักษะการเป็นผู้นำผ่านการทำงานเป็นทีม การตัดสินใจอย่างมีวิสัยทัศน์ การสื่อสารที่ชัดเจน และการบริหารโครงการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทีมไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่นักเรียนได้ฝึกฝนและพัฒนาระหว่างการเข้าร่วมกิจกรรม Leadership Camp ดังนั้น จึงเป็นก้าวสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนในการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาชุมชน โดยหลังจากนี้ นักเรียนจะลงพื้นที่สำรวจชุมชนโดยรอบโรงเรียนของตนเอง และพัฒนาโครงการเพื่อชุมชนในพื้นที่ต่อไป