โครงงานนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์คว้าโควตาตัวแทนประเทศ เดินทางไปเข้าร่วมแข่งขันเวทีนำเสนอโครงงานระดับโลกอย่าง Regeneron International Science and Engineering Fair 2025 ได้ถึง 2 โครงงาน ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้
ตามที่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการคัดเลือกเยาวชนในโครงการ “การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 27” (Young Scientist Competition : YSC 27) เพื่อเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ ในงาน Regeneron International Science and Engineering Fair 2025 (Regeneron ISEF 2025) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-16 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 ณ เมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในการนี้ นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้เข้าร่วมแข่งขันการคัดเลือกดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 จำนวน 7 โครงงาน โดยมี 2 โครงงานที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมแข่งขันในงาน Regeneron International Science and Engineering Fair 2025 ได้แก่
- โครงงานสาขาเคมีเรื่อง “การพัฒนาอุปกรณ์เชิงสีสำหรับการตรวจวัดคอร์ติซอลในน้ำลายโดยใช้อนุภาคทองคำนาโนดัดแปรด้วยซิสเทอีน” ของ นางสาวชญาภา บางยี่ขัน นักเรียนชั้น ม.5/9 นางสาวเกศกมล เหมันต์ นักเรียนชั้น ม.5/2 และ นายชูโชค ซิมตระการกุล นักเรียนชั้น ม.5/2 ซึ่งมี ดร.ณุจุฑา ธรรมสุเมธ ครูสาขาวิชาเคมี และ ดร.สุดเขต ไชโย จาก สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาโครงงาน
- โครงงานสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมการแพทย์เรื่อง “การพัฒนาอนุภาคนาโนจากสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นการงอกใหม่ของ พลานาเรียสายพันธุ์ Dugesia japonica สำหรับการรักษาบาดแผลเพื่อต่อยอดเป็นนวัตกรรมแผ่นปิดบาดแผล” ของ นายกฤตยชญ์ ไทยสุริยันต์ นักเรียนชั้น ม.5/7 นายปราชญ์ อำพนธ์ นักเรียนชั้น ม.5/2 และ นางสาวปาณิศา สว่างสุรีย์ นักเรียนชั้น ม.5/5 มี ดร.สุภานันท์ สุจริต ครูสาขาวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นที่ปรึกษาโครงงาน
ทั้งนี้ นายปราชญ์ อำพนธ์ ไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขัน Regeneron ISEF 2025 ได้ เนื่องจากติดภารกิจเข้าร่วมแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชียในฐานะผู้แทนประเทศไทย
สำหรับอีก 5 โครงงานที่ไม่ได้รับคัดเลือกนั้น เจ้าของโครงงานสามารถนำเสนอได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นกัน ซึ่งประกอบด้วย
- โครงงานสาขาชีววิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพเรื่อง “การใช้ประโยชน์จากสาหร่ายขนาดเล็ก Chlorella spp. ในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และบำบัดน้ำเสียในระบบอุตสาหกรรม” ของ นายสิรภพ บูรพาสกุล นักเรียนชั้น ม.5/9 นางสาวพิรยา ส่งสิริฤทธิกุล นักเรียนชั้น ม.5/9 และ นายภัฏ ตั้งจันทรประภาพ นักเรียนชั้น ม.5/9 โดยมี อ.สมฤทัย หอมชื่น ครูสาขาวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นที่ปรึกษาโครงงาน
- โครงงานสาขาวิทยาศาสตร์โลกและสิ่งแวดล้อมเรื่อง “การศึกษาการตรวจวัดสาร Perfluoro Octane Sulfonic Acid (PFOS) โดยใช้คาร์บอนดอตส์ที่ดัดแปรด้วยหมู่เอมีน” ของ นางสาวธนภร พลศักดิ์ นักเรียนชั้น ม.5/8 และ นายพบธรรม ตันอารีย์ นักเรียนชั้น ม.5/8 โดยมี ดร.ณุจุฑา ธรรมสุเมธ ครูสาขาวิชาเคมี และ ดร.สุดเขต ไชโย จาก สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาโครงงาน
- โครงงานสาขาวิทยาศาสตร์โลกและสิ่งแวดล้อมเรื่อง “การพัฒนาเซนเซอร์วัดระดับใต้ดินสำหรับการปลูกข้าวในระบบเปียกสลับแห้งเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ของ นายรัชชานนท์ สงวนเกียรติ นักเรียนชั้น ม.5/10 นายนนทพัทธ์ โอทอง นักเรียนชั้น ม.5/7 และ นายสุทธิภัทร กิ่งรักษ์ นักเรียนชั้น ม.5/4 โดยมี ดร.ศุภรินทร อนุพงศ์ ครูสาขาวิชาเคมี เป็นที่ปรึกษาโครงงาน
- โครงงานสาขาคณิตศาสตร์และสถิติเรื่อง “แบบจำลองปัญหาเส้นทางพาหนะที่มีความจุคันรถในการรับและส่งพัสดุในกรณีมีการตีกลับ” ของ นายวชิรวิชญ์ ชาภูมี นักเรียนชั้น ม.5/10 นายภัทรพล จำปาหอม นักเรียนชั้น ม.5/10 และ นายศิวนาท ทนงจิตร นักเรียนชั้น ม.5/10 มี ดร.มนสิการ จันทร์สร้าง ครูสาขาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคำนวณ เป็นที่ปรึกษาโครงงาน
- โครงงานสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์เรื่อง “การทำนายผลข้างเคียงของยาในขั้นวิจัยระยะพรีคลินิกโดยใช้การเรียนรู้ของเครื่องและโครงข่ายความเข้ากันได้ระหว่างยากับโปรตีนที่ไม่ใช่เป้าหมาย” ของ นายจิรทีปต์ มหาสุวีระชัย นักเรียนชั้น ม.5/5 นายฐปนรรฆ์ หวานฉ่ำ นักเรียนชั้น ม.5/5 และ นายกันตพัฒน์ ปานกรด นักเรียนชั้น ม.5/5 โดยมี ดร.สิทธิโชค โสมอ่ำ และ ดร.วรพันธ์ หอมสมบูรณ์ ครูสาขาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคำนวณ เป็นที่ปรึกษาโครงงาน