ธวัชชัย สุลาลัย*, ฐิติมา กล้าหาญ
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
*Email:
เพราะครูคือต้นแบบ
บทบาทครูที่ปรึกษาเป็นบทบาทที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มุ่งส่งเสริมนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และศักยภาพสูง เพื่อเป็นกลุ่มบุคลากรที่มีคุณค่ายิ่งแก่ประเทศชาติในภายภาคหน้า บทบาทครูที่ปรึกษาจึงเปรียบเสมือนผู้นำทางแก่ศิษย์ให้สำเร็จลุล่วงไปยังแนวทางแห่งความสำเร็จนั้น ครูที่ปรึกษาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในและนอกห้องเรียน
ครูฐิติมา กล้าหาญ เป็นครูประจำสาขาวิชาศิลปศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์ทั้งในด้านการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาสังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และคุณธรรมจริยธรรม นอกจากบทบาทในด้านการเป็นผู้จัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมศักยภาพทั้งความคิด วิจารณญาณ และส่งเสริมอัตลักษณ์ความเป็นผู้นำให้แก่นักเรียนแล้ว ครูยังเป็นดุจครูแม่แบบ ผู้เป็นดั่งปูชนียบุคลากรแก่ครูรุ่นใหม่ในโรงเรียน ในฐานะครูที่ปรึกษาต้นแบบที่คอยให้คำแนะนำไม่เพียงแก่ศิษย์ แต่ยังให้แนวทางการปฏิบัติหน้าที่ครูที่ปรึกษาแก่ครูรุ่นใหม่อีกด้วย ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงมุ่งมั่นที่จะถอดบทเรียน ประสบการณ์สำคัญ และความหมายของคำว่า “ครูที่ปรึกษา” ที่ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบทั้งในและนอกห้องเรียนของครู

ผู้ประสานระหว่างบ้านกับโรงเรียน
“ครูที่ปรึกษา” ในความคิดของครูฐิติมาคือ บุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบนักเรียนในห้อง ซึ่งความหมายยังรวมไปถึงการดูแลและรับผิดชอบต่อพ่อแม่และผู้ปกครองของนักเรียนด้วย ดังบทกวีที่ว่า
พ่อแม่รักลูกแม้น ดวงตา
ยังส่งลูกรักมา มอบให้
ลูกเราสิรักษา ดีสุด ใจเฮย
ของที่รับฝากไว้ จักต้องทวีคูณ
หน้าที่ของครูที่ปรึกษานั้น ได้แก่ การกำกับดูแลการปฏิบัติตนของนักเรียน เอาใจใส่อย่างทั่วถึง ฝึกให้นักเรียนปฏิบัติตามกฎของโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ และแจ้งข่าวสารให้แก่นักเรียนอย่างเท่าทันเหตุการณ์ เหมาะสม และถูกต้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ และที่สำคัญที่สุดคือ การเป็นที่ปรึกษาให้แก่นักเรียน เพราะนักเรียนอยู่ในวัยที่กำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง การเป็นที่ปรึกษาจึงหมายความว่า การเข้าไปเป็นที่พึ่งทางความรู้สึก เป็นบุคคลและเป็นครูที่นักเรียนมอบความไว้วางใจให้ และขอคำแนะนำเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของตัวนักเรียนเองได้
การที่นักเรียนแต่ละคนจะเข้ามาขอคำปรึกษานั้น หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือความเข้าใจ เวลาที่มีโอกาสได้พูดคุยกับนักเรียนนั้น ครูที่ปรึกษาควรมองให้ลึกลงไปถึงบุคลิกภาพของนักเรียน พื้นหลัง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างความสัมพันธ์ที่ดี โดยเฉพาะความรักและความเมตตาที่ถือเป็นคุณธรรมที่สำคัญที่พึงมี เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ของครูที่ปรึกษาได้อย่างลุล่วง
สิ่งบ่งชี้ความสำเร็จในฐานะครูที่ปรึกษาของครูคือ การที่นักเรียนคนหนึ่งได้ฝึกฝน ปรับตัว ทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง การที่นักเรียนสามารถดูแลตัวเอง จัดสรรเวลา บริหารจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองนั้นคือสิ่งบ่งชี้ว่านักเรียนจะประสบความสำเร็จได้ในอนาคต

กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น
ครูฐิติมาระบุว่าการดำเนินหน้าที่ครูที่ปรึกษานั้นควรยึดถือบทกลอนของศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ความว่า
กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด
การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น
แต่ออกดอกคราวไร งามเด่น
งานสั่งสอนปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม
จากกลอนบทนี้ ครูระบุว่าครูที่ปรึกษานั้นต้องรู้บทบาทและหน้าที่ของตน เมื่อได้สวมบทบาทเป็นครูที่ปรึกษาแล้ว เราต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ใช้ทั้งประสบการณ์และหัวใจในการสื่อสารไปยังหัวใจของนักเรียน ใช้ความเมตตา กรุณา ยอมรับความคิดเห็นของนักเรียน แม้บางครั้งความคิดเห็นของนักเรียนรุ่นใหม่อาจแตกต่างไปจากครูผู้มีประสบการณ์ ครูก็ต้องรับฟัง ยอมรับในตัวตนของนักเรียนให้ได้ และประสานความคิดให้สอดคล้องและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักเรียนเป็นสำคัญ
หัวใจของการเป็นครูที่ปรึกษา
หัวใจประการหนึ่งของการเป็นครูที่ปรึกษาประจำชั้นคือ การรักษาความลับของนักเรียน ซึ่งเป็นจรรยาบรรณที่สำคัญของความเป็นครู ในการแก้ไขปัญหาที่เป็นความลับของนักเรียนต้องใช้ทั้งการให้เหตุผล การเสริมแรง ความคุ้นเคย ความจริงใจ และความไว้วางใจของครูและนักเรียนนั่นเอง ซึ่งตลอดประมาณ 1000 วันที่นักเรียนอยู่ที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์นี้ ครูฐิติมากล่าวว่าอยากให้เป็น 1000 วันแห่งความสุข แม้ในแต่ละวันอาจมีปัญหา มีความทุกข์เข้ามาบ้าง แต่ครูที่ปรึกษาที่ดีจะใช้ “สติเป็นดวงตา ปัญญาเป็นแสงสว่าง” นำพาให้รอดพ้นและเป็นแสงชัยแห่งปลายทางความสำเร็จของนักเรียนได้ การมีสติและปัญญาจะทำให้ครูที่ปรึกษามองข้อมูลรอบด้าน บางครั้งมองเพียงภายนอกอาจเห็นได้เพียงด้านเดียว แต่หากเรามีข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการศึกษาอย่างเข้าใจ จะทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนและแก้ไขเรื่องที่อาจจะรุนแรงได้อย่างทันท่วงที
การเป็นครูที่ปรึกษาที่ดีในมุมมองของครูฐิติมานั้น คำว่าครูที่ปรึกษาที่ดีนอกจากบทบาทในการดูแลนักเรียนแล้ว ยังต้องมีคุณสมบัติอื่น ๆ ได้แก่ ยิ้มแย้มแจ่มใส ทำให้นักเรียนเปิดใจและพร้อมรับฟังคำแนะนำ มีอารมณ์ขัน ทำให้นักเรียนสบายใจเมื่อพบเจอกับปัญหา มีความมั่นคงทางอารมณ์ ไม่แสดงออกถึงอารมณ์ทางด้านลบที่อาจเกิดอิทธิพลต่อนักเรียน จรรยาบรรณของครู ได้แก่ เป็นแบบอย่างที่ดี ตรงต่อเวลา มีความซื่อสัตย์ เคารพและเข้าใจผู้อื่น รวมถึงการยอมรับผิดชอบ ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถด้วยเหตุและผล เสียสละและอุทิศตนให้แก่องค์กร
หัวใจสำคัญอีกประการคือการเข้าใจและประสานกับผู้ปกครอง เพราะบ่อยครั้งที่ผู้ปกครองอาจปกป้องลูกของตนมากกว่า ครูที่ปรึกษาต้องมีความสามารถในการเปิดใจ กล้าบอกข้อมูลและข้อเท็จจริงแก่ผู้ปกครอง ต้องให้ความร่วมมือและประสานสัมพันธ์กับผู้ปกครอง ให้สามารถดำเนินงานไปได้บนพื้นฐานของความถูกต้อง ครูที่ปรึกษาบางท่านจะรู้สึกกลัวเมื่อต้องเผชิญกับผู้ปกครอง แต่ครูที่ปรึกษาที่ดีจะต้องไม่หวั่นไหว ยืนหยัดอยู่บนความถูกต้อง เพราะครอบครัวแต่ละครอบครัวมีพื้นฐานแตกต่างกัน
ครูต้องยืนหยัดและยึดมั่นอยู่ในฐานะของครู ถ้าไม่แน่ใจ ควรนิ่ง ดูสถานการณ์ และรับข้อมูลให้รอบด้าน เมื่อมั่นใจแล้วขอให้เชื่อมั่นในการตัดสินใจของตน จะช่วยให้นักเรียนเกิดความมั่นใจ และอีกหนึ่งลักษณะที่ครูที่ปรึกษาพึงมีคือ ต้องรอบคอบและระมัดระวัง ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ครูฐิติมาอยากฝากไว้ให้กับครูที่ปรึกษาทุกท่าน บางครั้งคำพูดบางคำที่เกิดจากความไม่ระมัดระวังของเราอาจก่อให้เกิดการกระทบใจกับนักเรียนได้

ฝากแก่ครู…เพื่อลูกศิษย์
สิ่งที่ครูฐิติมาอยากฝากไว้ในช่วงสุดท้ายของบทความได้แก่ “รู้เท่าไว้ป้องกัน รู้ทันไว้แก้ไข” คุณธรรมข้อนี้เป็นคุณธรรมที่สอนทั้งนักเรียนและครู “สติมา ปัญญาเกิด” การรู้เท่าและรู้ทันจะก่อให้เกิดสติ เมื่อมีสติจะเกิดปัญญา เมื่อมีปัญญาจะแก้ไขปัญหาได้เสมอ นักเรียนไม่ว่าจะจบไปแล้วกี่ปี สุดท้ายเมื่อนักเรียนกลับมาที่ถิ่นศรีตรังแห่งมหิดลวิทยานุสรณ์แห่งนี้ก็ยังเป็นหนึ่งในดวงใจของครูอยู่เสมอ และบทบาทของครูที่ปรึกษานั้นไม่มีวันจบสิ้น เพราะแม้นักเรียนจะจบไปกี่รุ่นก็ตาม แต่เมื่อนักเรียนประสบความสำเร็จ กลับมาเยี่ยมโรงเรียน หรือนักเรียนได้เติบโตไปเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่าแก่ประเทศชาติในอนาคต ก็ล้วนแล้วแต่เกิดจากความรักและเมตตาที่ครูที่ปรึกษามีให้นั่นเอง
ความสำเร็จและความสุขของนักเรียนคือสิ่งตอบแทนความทุ่มเทของครูที่ปรึกษา หลายครั้งครูที่ปรึกษาอาจเหนื่อยกับหน้าที่ ภาระ และความรับผิดชอบ แต่ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จของศิษย์นั่นเองที่ทำให้ครูมีรอยยิ้ม ลุกขึ้นมา และเพาะพันธุ์เมล็ดต้นกล้าแห่งความรู้ให้เติบโตแก่นักเรียนรุ่นต่อไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น และนี่ก็คือสิ่งที่ครูฐิติมา กล้าหาญ ปูชนียบุคลากรได้มอบไว้เป็นบทเรียนที่มีคุณค่าแก่ทั้งนักเรียนและครู เพื่อเป็นประโยชน์แก่ทุกคนสืบต่อไป
