วรวรงค์ รักเรืองเดช
ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
แนวคิด “สไตล์ฟิวชัน” (fusion) ที่ใช้เป็นชื่อบทความนี้ เปรียบได้กับอาหารฟิวชันที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ซึ่งมีลักษณะโดดเด่นจากการผสมผสานอาหารจากต่างวัฒนธรรมเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน แต่ยังคงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอยู่เสมอ เช่นเดียวกันกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (MWIT) ที่ได้นำนวัตกรรมการเรียนการสอนที่ดีที่สุดจากทั่วโลก โดยเฉพาะเทคนิคการสอนในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ตามแนวทางสากล มาผสมผสานเข้ากับการศึกษาที่มีรากฐานแข็งแกร่งในแบบฉบับไทย ทำให้ MWIT ผลิตกำลังคนที่มีความเป็นเลิศในด้าน STEM ไปแข่งขันในเวทีระดับชาติและนานาชาติได้อย่างมั่นคง
ยกตัวอย่างผลงานระดับนานาชาติของ MWIT ในส่วนของนักเรียน ได้แก่ การคว้าเหรียญรางวัลโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติได้รวมทั้งสิ้น 151 เหรียญรางวัล มีทรัพย์สินทางปัญญารวม 73 ชิ้น ผลงานตีพิมพ์ 4,478 ชิ้น ได้รับทุนอานันทมหิดล 6 คน ทุนมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 18 คน เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา (Lindau Nobel Laureate Meetings) 20 คน และในปีที่ผ่านมานักเรียน MWIT คว้ารางวัลจากการร่วมการแข่งขันในเวทีนานาชาติได้ถึง 82.5% จากเกือบ 50 ผลงานที่ส่งเข้าประกวด ในส่วนของครูและผู้บริหารของโรงเรียนยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนนำเครือข่ายโรงเรียนวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ International Science Schools Network (ISSN) ที่มีสมาชิก 26 โรงเรียนจาก 17 ประเทศ และหากนับจำนวนนักเรียนและบุคลากรที่เข้าร่วมกิจกรรมนานาชาติ (outbound mobility) และที่เข้ามาร่วมกิจกรรมกับโรงเรียน (inbound) ในรอบปีที่ผ่านมา มีมากถึง 710 คน หรือประมาณร้อยละ 80 ของประชาคม MWIT
ผลงานของ MWIT เกิดขึ้นจากการทำงานหนักของครูผู้ทุ่มเท เปรียบดั่งการสร้างเมนูอาหารที่มีคุณภาพ ต้องใช้ครัวและอุปกรณ์ปรุงอาหารที่ได้มาตรฐาน ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ สร้างสรรค์สูตรอาหารที่ผสมผสานองค์ความรู้จากหลายแหล่งเข้าด้วยกัน เป็นการปรุงอาหารที่ต้องใช้ความรู้และความสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง
ครูที่ MWIT ไม่เพียงแต่สอนตามบทเรียนเท่านั้น แต่ยังต้องปรับตัว เรียนรู้ พัฒนาแนวทางการสอนให้เหมาะสมกับนักเรียนในยุคใหม่ คล้ายกับอาหารฟิวชันที่นำเสนอรสชาติและเทคนิคใหม่ ๆ แต่ยังคงรากฐานทางวัฒนธรรมที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เข้ากับความต้องการและรสนิยมของคนรุ่นใหม่ ครูที่นี่จึงเปรียบเสมือน “เชฟ” ที่ใช้ความสามารถในการผสมผสานความเป็นเลิศในระดับสากลเข้ากับแนวทางการศึกษาของไทย สร้างนวัตกรรมและวิธีการสอนใหม่ ๆ เพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนได้รับการเตรียมตัวอย่างเต็มที่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เมื่อพูดถึงความเป็นเลิศ MWIT จำเป็นต้องรักษามาตรฐานที่สูงของตนเองไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อคงความเป็นโรงเรียนต้นแบบที่จัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของประเทศไทย และคงไว้ซึ่งบทบาทสำคัญในการสร้างกำลังคนที่มีคุณภาพสูงคือ นักเรียนที่ต่อยอดความสำเร็จทางวิชาการในระดับอุดมศึกษา และก้าวขึ้นเป็นนักวิชาการชั้นนำของประเทศ เพื่อช่วยสร้างความเจริญให้สังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทย อีกทั้งยังนำความเป็นต้นแบบไปขยายผลให้วงการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ทั้งในระดับโรงเรียนและโครงการพิเศษต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์หลักของการก่อตั้งโรงเรียน
สิ่งที่โรงเรียนต้องดำเนินการเพื่อให้คงความเป็นเลิศนี้ไว้ ได้แก่ การพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับส่งเสริมทักษะการวิจัยและนวัตกรรมให้แก่นักเรียน โรงเรียนต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์ หรือการศึกษาระดับสากลที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว การผสมผสานแนวทางการเรียนการสอนแบบไทยเข้ากับแนวคิดระดับนานาชาติคล้ายกับการสร้างเมนูอาหารฟิวชันที่ผสมผสานวัฒนธรรมหลากหลายอย่างลงตัว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างความเป็นเลิศอย่างยั่งยืนให้โรงเรียน
ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทำได้ ถ้าให้ “ใจ”
MWIT วางแนวทางเรื่องนานาชาติไว้อย่างชัดเจน ผ่านแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ. 2563-2583) ที่มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ (International Science Education Hub) การกำหนดยุทธศาสตร์นี้ไม่เพียงแค่ตั้งเป้าหมายให้ MWIT เป็นโรงเรียนชั้นนำในประเทศ แต่ยังมุ่งสร้างชื่อเสียงและการยอมรับในระดับสากล ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มการมีส่วนร่วมกับเวทีนานาชาติ

สำหรับแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) MWIT ได้ระบุวัตถุประสงค์ชัดเจนคือ การสร้างการยอมรับในระดับนานาชาติ (International Recognition) ซึ่งประกอบด้วยการขยายการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับโรงเรียนและสถาบันต่างประเทศ รวมถึงการเพิ่มจำนวนกิจกรรมและโอกาสในการแลกเปลี่ยนนักเรียน ครู และบุคลากร กับโรงเรียนต่างประเทศ เป้าหมายเหล่านี้สะท้อนถึงการปรับปรุงการศึกษาที่ MWIT มุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคสมัยใหม่
MWIT กำลังมุ่งพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับยุคสมัยใหม่ โดยที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของโรงเรียนไทยไว้ คล้ายกับวิวัฒนาการของอาหารไทยที่ได้ปรับตัวและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยสุโขทัยที่อาหารไทยยังมีลักษณะเรียบง่าย จนถึงปัจจุบันที่เราได้เห็นการผสมผสานอาหารจากหลากหลายวัฒนธรรม เกิดเป็นอาหารฟิวชันที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ การพัฒนาทางการศึกษาในลักษณะนี้สะท้อนถึงความพยายามของ MWIT ในการผสมผสานระหว่างการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย กับการรักษาความเป็นไทยที่เป็นรากฐานสำคัญ
ในยุคเริ่มต้นก่อนเปลี่ยนเป็นองค์การมหาชน (พ.ศ. 2533-2543) MWIT ดำเนินการภายใต้รูปแบบการบริหารแบบราชการ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านความยืดหยุ่นในการบริหารงาน รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกวิทยาศาสตร์ การศึกษาจึงยังคงรูปแบบที่ค่อนข้างเป็นทางการและขาดการบูรณาการ คล้ายกับการปรุงอาหารไทยในยุคสุโขทัยที่ยังเรียบง่าย มีวัตถุดิบหลัก ๆ ที่เป็นธรรมชาติ และใช้วิธีการปรุงที่ไม่ซับซ้อน เช่น การต้ม ปิ้ง ย่าง โดยยังไม่มีการรับวัฒนธรรมจากต่างประเทศเข้ามาผสมผสานมากนัก เปรียบได้กับการที่ MWIT ในช่วงแรกยังต้องอิงกับระเบียบการและระบบของราชการอย่างเข้มงวด ส่งผลให้ความก้าวหน้าและการพัฒนามีขีดจำกัดอยู่ในกรอบที่ตั้งไว้
เมื่อ MWIT ปรับวิธีการบริหารองค์กรสู่ยุคองค์การมหาชนในปี พ.ศ. 2543 ได้พัฒนาระบบการจัดการศึกษาของโรงเรียนอิงกับระบบการศึกษานานาชาติ โดยเฉพาะภายใต้การนำของ ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการระหว่าง พ.ศ. 2544-2552 ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากต่างประเทศ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักเรียนและครูระหว่างประเทศ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ คล้ายกับยุคกรุงศรีอยุธยาที่เริ่มมีการรับอิทธิพลจากต่างชาติ ทั้งในด้านอาหารและวัฒนธรรมการกิน เช่น การนำเข้าเครื่องเทศจากอินเดีย ของหวานจากโปรตุเกส เหล้าองุ่นจากสเปน การแลกเปลี่ยนเหล่านี้ถูกนำมาปรับใช้และผสมผสานกับวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม ทำให้เกิดการผสมผสานของวัฒนธรรมอาหารที่งดงามและซับซ้อนขึ้น เช่นเดียวกับการพัฒนาหลักสูตรและแนวทางการศึกษาของ MWIT ที่ได้รับอิทธิพลจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก และนำมาผสมผสานกับบริบทการศึกษาไทย

ในปี พ.ศ. 2547 ดร.ธงชัยได้นำ MWIT ไปร่วมงานประชุมวิชาการ ASMS International Science Fair ที่จัดโดย Australian Science and Mathematics School (ASMS) ณ ประเทศออสเตรเลีย และได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการในชื่อว่า Sci-Math International Collaboration ระหว่าง ASMS, MWIT และ Ritsumeikan High School ประเทศญี่ปุ่น ในปีถัดมา พ.ศ. 2548 MWIT ได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน The 1st Thailand International Science Fair 2005 โดยโรงเรียนในเครือข่ายได้ตกลงกันว่าจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ และเปลี่ยนชื่อการประชุมวิชาการเป็น International Students Science Fair ในปีต่อไป
ในปีหน้า MWIT จะเป็นเจ้าภาพในการเฉลิมฉลอง 2 ทศวรรษของการจัดงาน ISSF ในงาน The 20th Thailand International Science Fair 2025 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-31 มกราคม พ.ศ. 2568 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล

การที่ MWIT ได้เข้าสู่เวทีนานาชาติในช่วงที่ ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ทำให้โรงเรียนมีโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษา ความร่วมมือกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากต่างประเทศทำให้ MWIT สามารถพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยได้รับการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก
เมื่อ MWIT มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุวดี นาคะผดุงรัตน์ เป็นผู้อำนวยการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552-2559 ภารกิจด้านการศึกษาในระดับนานาชาติได้รับการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาระดับโลก เพื่อเสริมสร้างโอกาสการเรียนรู้ที่หลากหลายให้นักเรียน เปรียบได้กับสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงต้น (รัชกาลที่ 1-3) เมื่อประเทศไทยเริ่มมีการปรับปรุงและพัฒนาอาหารไทยให้มีความหลากหลาย โดยเฉพาะการเพิ่มอาหารว่างและการสร้างสรรค์รสชาติที่โดดเด่น การเปลี่ยนแปลงในด้านอาหารนี้สะท้อนถึงความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยยุคนั้น นอกจากจะมีอาหารคาวและหวานแล้ว ยังมีการปรุงกลิ่นและการตกแต่งอาหารอย่างประณีต ในทำนองเดียวกัน MWIT ก็ได้ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความทันสมัยและน่าสนใจ

ความประณีตนี้สะท้อนให้เห็นจากการที่ MWIT ลงรายละเอียดเกี่ยวกับคุณภาพการจัดระบบโครงงานวิจัย โดยในปี พ.ศ. 2552 โรงเรียนได้จัดกิจกรรมปฏิบัติการเรื่อง Scientific Inquiry and the Nature of Science ขึ้นในโอกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดหอประชุมพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ในงานนี้ Dr. David Workman หัวหน้าสาขาวิทยาศาสตร์จาก Illinois Mathematics and Science Academy (IMSA) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มาเป็นวิทยากร ในระหว่างปี พ.ศ. 2552-2556 Dr. Workman ยังได้ทำงานร่วมกับครูของ MWIT เพื่อฝึกอบรมเทคนิคการสอนตามแนวทางของ IMSA และช่วยพัฒนาหลักสูตร Scientific Inquiry and the Nature of Science (SINOS) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่นำมาใช้สอนนักเรียนทุกคนใน MWIT นอกจากนี้ยังได้จัดเวิร์กช็อปสำหรับครูในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้สร้างโครงงานวิจัยในมาตรฐานระดับโลก
ในปี พ.ศ. 2557 MWIT ได้เป็นแกนนำในการก่อตั้งเครือข่าย International Science Schools Network (ISSN) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ โดยเริ่มต้นจากการทำงานร่วมกับโรงเรียนที่เข้าร่วมงาน ISSF ตั้งแต่ที่ MWIT เป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งรวมถึงโรงเรียนจากประเทศไทย สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย แคนาดา อังกฤษ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย องค์ความรู้จากความร่วมมือเช่นนี้เปรียบได้กับความหลากหลายของอาหารไทยในสมัยรัชกาลที่ 4-5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีการตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกของไทย ทำให้เกิดตำราและการเผยแพร่วิทยาการที่หลากหลาย พ่อครัวแม่ครัวได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความหลากหลายในการทำอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารจานเดียว อาหารว่าง อาหารหวาน หรืออาหารนานาชาติ ที่ผสมผสานกันอย่างกลมกล่อม จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทย

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พฤติกรรมของผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อไลฟ์สไตล์การเรียนรู้ของนักเรียนและความร่วมมือกับเพื่อนจากต่างประเทศ ทศวรรษที่สามนี้ถือเป็นความท้าทายสำหรับรองศาสตราจารย์ ดร.วิวัฒน์ เรืองเลิศปัญญากุล ผู้อำนวยการ MWIT ในช่วง พ.ศ. 2559-2565 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้โรงเรียนต้องปิดทำการ และการเรียนการสอนต้องเปลี่ยนไปสู่รูปแบบออนไลน์ นอกจากนี้กิจกรรมด้านนานาชาติก็ต้องหยุดชะงักเนื่องจากข้อจำกัดด้านการเดินทาง
ด้วยเหตุนี้ MWIT จึงต้องปรับตัวเพื่อใช้ระบบออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงเวลานี้โรงเรียนได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีการจัดกระบวนการเรียนรู้แนวใหม่หลายประการ เช่น การสอนแบบไฮบริด การทำโฮมรูมออนไลน์ การทำโครงงานที่บ้าน (Project at Home) การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนออนไลน์ การจัดประชุมวิชาการออนไลน์ เช่น Thailand International Science Fair 2021 การเปลี่ยนแปลงนี้สามารถเปรียบเทียบได้กับการปรุงอาหารที่ต้องใช้ส่วนผสมและวิธีการทำที่แตกต่างกัน ส่งผลให้สูตรและรสชาติอาหาร รวมถึงวิธีการบริโภคเปลี่ยนไปจากต้นตำรับดั้งเดิมอย่างมากในระยะเพียง 3 ปี
เมื่อประเทศกลับมาเปิดให้ใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง การสื่อสารและการเดินทางจึงเริ่มฟื้นคืนมาอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้นการทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ จากต่างประเทศจึงมีความสำคัญมากขึ้นกว่าที่เคย ผม (ดร.วรวรงค์ รักเรืองเดช) ในฐานะผู้อำนวยการ MWIT ตั้งแต่ พ.ศ. 2565 จึงได้กำหนดภารกิจนานาชาติออกเป็น 3 ส่วนเพื่อรักษาความเป็นเลิศของ MWIT ไว้ ได้แก่
ภารกิจระยะสั้นมุ่งเน้นการฟื้นฟูเครือข่ายความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นให้กลับคืนมา โดยเริ่มจากการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างสัมพันธ์เดิม เช่น การสื่อสารออนไลน์ที่นำไปสู่การพบปะแบบตัวต่อตัว ทั้งในกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์ในเครือข่าย ISSN มหาวิทยาลัยต่างประเทศที่เป็นเป้าหมายของนักเรียน MWIT และนักเรียนเก่าที่อยู่ต่างประเทศ
ภารกิจระยะกลางเน้นการเพิ่มคุณภาพความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนในเครือข่ายผ่านโครงการความร่วมมือ เช่น การทำโครงงานร่วม การจัดการเรียนการสอนร่วมกัน การแลกเปลี่ยนบุคลากรระยะยาว ซึ่งจะช่วยนำองค์ความรู้ที่ได้จากช่วงโควิด-19 มาพัฒนาวิธีการและสูตรการเรียนรู้ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น แต่ไม่ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงจนไม่สามารถใช้ได้เหมือนอาหารที่สูญเสียเอกลักษณ์ของตนไป

ท้ายที่สุดคือภารกิจระยะยาวที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย ISSN โดย MWIT ได้เริ่มการสนทนากับแกนนำของกลุ่ม ISSN ซึ่งเป็น Executive Board Committee ที่ประกอบด้วยผู้อำนวยการของโรงเรียนที่เคยจัดงานประชุมวิชาการ ISSF ก่อนปี 2014 และยังคงมีความเคลื่อนไหวในการสนับสนุน ISSN อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ MWIT, Australian Science and Mathematics School ประเทศออสเตรเลีย, John Monash Science School ประเทศออสเตรเลีย, Ritsumeikan High School ประเทศญี่ปุ่น, Korea Science Academy of KAIST สาธารณรัฐเกาหลี, National Junior College ประเทศสิงคโปร์, NUS High School of Math and Science ประเทศสิงคโปร์ และ Camborne Science and International Academy ประเทศอังกฤษ โดยเริ่มการพูดคุยตั้งแต่การจัดงาน ISSF 2022 จนถึง ISSF 2023 และการประชุม Principal Meeting 2024 รวมทั้งการหารือออนไลน์เกือบทุกเดือนในช่วงปีที่ผ่านมา

แผนการใหญ่ของ ISSN มุ่งเน้นการทบทวนความเป็นเลิศของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ในเครือข่าย พร้อมทั้งกำหนดทิศทางในการพัฒนาร่วมกันในอนาคต ภายใต้วิสัยทัศน์ (vision) ว่า
Young people empowered to embark on a lifelong commitment to science to tackle globally significant challenges together.
เยาวชนได้รับการเสริมพลังให้มีความมุ่งมั่นในด้านวิทยาศาสตร์ตลอดชีวิต เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่สำคัญในระดับโลก
คำว่า “แก้ไขปัญหาที่สำคัญ” (globally significant challenges) เป็นคำใหญ่ที่หมายรวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี วิกฤตพลังงาน ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางน้ำ การลดความยากจน และโรคภัยไข้เจ็บ การแก้ปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องมีกำลังคนที่มีความสามารถสูงด้านวิทยาศาสตร์และ STEM โดยทุกโรงเรียนต้องเชื่อเหมือนกันว่านักเรียนของเราจะมีบทบาทสำคัญในการทำให้โลกใบนี้เป็นโลกที่น่าอยู่กว่าเดิม ซึ่งต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม (ethics) มีความเห็นอกเห็นใจ (empathy) และสร้างสรรค์ (creativity)
นอกจากนี้กลุ่มโรงเรียนในเครือข่าย ISSN ได้กำหนดพันธกิจสำคัญสำหรับสมาชิก โดยมุ่งสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศสำหรับนักเรียน ผู้สอน และผู้นำของโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และการวิจัยร่วมกัน รวมถึงแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าในด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ทั่วโลก โดยมีโปรแกรมสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถของเครือข่ายใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) โปรแกรม PRISM (Principal Roundtable in Support of Science & Mathematics) สำหรับผู้อำนวยการโรงเรียน 2) LENS (Linking Educators in Network Schools) สำหรับบุคลากรทางการศึกษา ทั้งในรูปแบบออนไลน์และการพบปะเจอหน้ากัน และ 3) SPECTRA (Students Promoting Education, Collaboration, and Technological Research in Academia) ผ่านวารสารวิจัยออนไลน์ภายใต้ชื่อ ISSN Journal of STEM Research
นับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการร่วมมือสร้างกำลังคนที่เป็น Science Citizen of the World โดยในงาน ISSF 2025 ซึ่ง MWIT เป็นเจ้าภาพนั้น จะมีการลงนามในแถลงการณ์ร่วม (joint statement) เพื่อแสดงจุดยืนในการรวมกลุ่มและขับเคลื่อนภารกิจนี้ไปด้วยกัน

การร่วมมือกับเครือข่ายนานาชาติส่งผลดีอย่างชัดเจนต่อการพัฒนานักเรียนของ MWIT โดยเฉพาะในการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน นักเรียนมีโอกาสเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนและการแข่งขันระดับนานาชาติ ซึ่งช่วยให้พวกเขาได้รับมุมมองที่กว้างขวางขึ้นในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การทำงานร่วมกับเพื่อนจากต่างประเทศยังเสริมสร้างทักษะการสื่อสารและการทำงานเป็นทีม ทำให้นักเรียนกลายเป็นบุคคลที่มีคุณภาพและมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับโลก นอกจากนี้ยังสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนออกจากพื้นที่ที่คุ้นเคย (comfort zone) และเพิ่มโอกาสในการศึกษาต่อในต่างประเทศอีกด้วย

การร่วมมือกับเครือข่ายนานาชาติเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของ MWIT โดยช่วยสร้างหลักสูตรและแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่มีความทันสมัยและมุมมองระดับโลก ซึ่งรวมถึงการนำเสนอหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและใช้เทคนิคการเรียนรู้ที่ทันสมัย การบูรณาการประเด็นระดับโลก เช่น วิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ ชีววิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนสามารถเผชิญกับความท้าทายในระดับโลก การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางปฏิบัติกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์และสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลกช่วยให้ MWIT สามารถปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความหลากหลายและน่าสนใจยิ่งขึ้น ซึ่งจะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้โรงเรียน และทำให้ MWIT ยังคงเป็นที่รู้จักในด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับนานาชาติ
เพื่อรักษาความเป็นเลิศและสมกับการเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์แห่งชาติ MWIT จึงต้องมุ่งเน้นการพัฒนาในหลายด้านที่สำคัญ เริ่มจากการพัฒนาหลักสูตรที่เร่งรัดและเสริมสร้างคุณภาพ ซึ่งต้องมีการจัดการเรียนการสอนที่ก้าวหน้ากว่ามาตรฐาน และรวมหลักสูตรเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วรรณกรรม ศิลปะ และเทคโนโลยี โดยใช้ครูที่มีความเชี่ยวชาญและสามารถจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมตามความสามารถของนักเรียนแต่ละคน นอกจากนี้ MWIT ยังต้องสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่กระตุ้นการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหา เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสทำงานวิจัยและเรียนรู้แบบโครงการที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนค้นพบและพัฒนาความสามารถของตนได้อย่างเต็มที่
ในด้านการสนับสนุนทางสังคมและอารมณ์ MWIT ให้ความสำคัญกับการให้บริการสนับสนุนที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะของนักเรียน โดยการช่วยให้นักเรียนสามารถผ่านความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับความอัจฉริยะของพวกเขา การสร้างชุมชนการเรียนรู้ที่เข้มแข็งผ่านความร่วมมือกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะช่วยสร้างความเชื่อมโยงที่ดีระหว่างนักเรียน และเสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ MWIT ยังคงเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงในด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อย่างยั่งยืนในอนาคต
การร่วมมือกับเครือข่ายนานาชาติไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อ MWIT เท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยโดยรวมอีกด้วย การนำแนวทางการสอนและวิจัยที่มีคุณภาพจากต่างประเทศมาปรับใช้และพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในบริบทของประเทศไทย เปรียบเสมือนการสร้างสรรค์อาหารที่มีคุณค่าและเหมาะกับคนไทยยุคใหม่จริง ๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานการศึกษาวิทยาศาสตร์ในประเทศ และสนับสนุนการเติบโตของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยรุ่นใหม่ในอนาคต นอกจากนี้การสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งในระดับนานาชาติยังช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และทรัพยากร ส่งผลให้การศึกษาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยก้าวหน้าไปตามมาตรฐานสากล

เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ MWIT อาจต้องเลือกว่าจะผลิตอาหารฟิวชันที่พร้อมเสิร์ฟในรูปแบบที่สะดวกสบายสำหรับผู้บริโภค หรือหาทางปั้นให้พ่อครัวแม่ครัวสามารถปรุงอาหารฟิวชันได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็น เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนและสังคมได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
“MWIT – โรงเรียนวิทยาศาสตร์สไตล์ฟิวชัน” เป็นการสะท้อนถึงการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้งของ MWIT ที่มุ่งผสมผสานองค์ความรู้จากต่างประเทศเข้ากับบริบทการศึกษาไทย เพื่อให้วัตถุดิบพื้นบ้านกลายเป็นอาหารไทยจานโปรดที่มีรสชาติอร่อยและมีคุณภาพสูง เป็นที่รู้จักและต้องการจากคนทั่วโลก การสร้างสรรค์อาหารฟิวชันที่หลากหลายและน่าสนใจนี้ แสดงถึงความพยายามที่ไม่หยุดนิ่งของเชฟไทยในการพัฒนาและปรับปรุงเมนูให้ทันสมัย เพื่อให้ครัวไทยได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จในด้านการศึกษาในเวทีโลก และเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทยที่มีโอกาสที่จะเป็นครัวของโลกในอนาคต

อ้างอิง
กอบแก้ว นาจพินิจ. (2542). อาหารไทย. สถาบันราชภัฏสวนดุสิต.
ศรุดา นิติวรการ. (2557). อาหารไทย: มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ. วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร, 5(1), 171-179. https://so01.tci-thaijo.org/index.php/AJPU/article/view/42173