ผู้เรียบเรียง: ปิยรัตน์ แซ่อึ้ง
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
ปัจจัยสำคัญในความสำเร็จของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จนถึงปัจจุบันคือ การมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีวิสัยทัศน์ด้านการศึกษา และสนับสนุนการดำเนินงานเสมอมา รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และที่ปรึกษาคณะกรรมการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ในช่วง พ.ศ. 2556 – 2559) คือบุคคลสำคัญที่ไม่เพียงสนับสนุนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ แต่ยังมุ่งมั่นทำงานเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ “การศึกษาไม่เพียงสร้างคนไปเป็นทุนทางเศรษฐกิจ แต่ต้องสร้างมนุษย์ที่มีหัวใจด้วย”
ในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2567 ผู้บริหารและนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ รวมทั้งทีมงานของ MWIT Magazine ได้รับโอกาสให้ไปสัมภาษณ์และพูดคุยกับคุณหญิงสุมณฑา ในประเด็นเกี่ยวกับการศึกษา ทั้งบทบาทของเครือข่ายนานาชาติ การศึกษาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย และพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อการศึกษาไทย แนวคิดในบทสัมภาษณ์นี้ไม่เพียงมีคุณค่าต่อผู้ที่กำลังขับเคลื่อนการศึกษา แต่ยังมีคุณค่าต่อคนทุกคน เพราะ “การศึกษาสำคัญต่อชีวิตของคนทุกคน”

บทบาทของเครือข่ายนานาชาติต่อการพัฒนาการศึกษาไทย
ในอดีตเมื่อเริ่มติดต่อกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ก็มีการหลั่งไหลของทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ของกินของใช้ รวมถึงความคิดความอ่านและการศึกษาเข้ามาด้วย ประเทศไทยเริ่มเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยิ่งเปิดรับมากขึ้น ไทยเปิดรับการศึกษาจากประเทศตะวันตกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นความจำเป็นเพราะตอนนั้นก็ถือว่ามีความเสี่ยง เนื่องจากประเทศตะวันตกอยู่ในยุคล่าอาณานิคม สมัยนั้นรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของการให้ความรู้ ให้ความสามารถแก่คน ถ้าความสามารถไม่ทันการณ์ ไม่ทันโลก ก็ย่อมมีปัญหา พอมาถึงสมัยใหม่ก็มีความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสารกัน จนกระทั่งในปัจจุบันโลกไร้พรมแดน ทั่วโลกสามารถหาความรู้ได้เท่าเทียมกันหมด
ประเทศไทยเป็นสมาชิกของยูเนสโก หรือองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับนานาชาติที่ดูแลเรื่องการศึกษา วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ ทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นแล้วก็มีการจัดการศึกษาในรูปแบบอื่น เช่น การพัฒนาสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม เรียกได้ว่าประเทศไทยเข้าร่วมกับเขาเกือบทุกเรื่องที่ทำได้ ในอาเซียนก็มีที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และในอาเซียนก็รวมกลุ่มกันในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องการศึกษา
การเสริมสร้างความร่วมมือระดับประเทศเพื่อยกระดับการศึกษาไทยคิดว่าเราพยายามตลอดและทำได้ดี เช่น ระยะ 10 ปีที่ผ่านมานี้ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีตั้งขึ้นเพื่อพระราชทานรางวัลให้ครูในประเทศอาเซียน รวมถึงติมอร์-เลสเต รวมเป็น 11 ประเทศ และกำลังจะเพิ่มอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ภูฏาน มองโกเลีย และบังคลาเทศ การคัดเลือกครูเข้ารับรางวัลเป็นการส่งเสริมอาชีพครูในระดับประเทศ ทุกประเทศก็มีจุดมุ่งหมายของการศึกษาคล้ายกันคือพยายามสร้างคน เพราะคนคือทรัพยากรที่สำคัญที่จะช่วยให้ประเทศชาติดำเนินต่อไป นี่คือตัวอย่างหนึ่งของความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดพลัง แม้จำนวนไม่มาก แต่ก็มี Impact สูง ในประเทศไทยครูไทยมีสิทธิ์ได้รับพระราชทานรางวัลทุก ๆ 2 ปี ในการค้นหา 1 คนที่จะได้รางวัล เราต้องไปเสาะหาจากทั่วประเทศไทยโดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัดเป็นประธานไปเสาะหา ให้ลูกศิษย์หรือให้คนอื่นเสนอชื่อขึ้นมา ไม่ใช่เป็นการสมัคร แล้วเราก็คัดมา ในระหว่างการคัด เราก็ได้เครือข่ายของครูขึ้นมา ถ้าเรารู้จักการใช้พลังของครูในเครือข่ายนี้ ก็คิดว่าความเท่าเทียมและการเข้าถึงคุณภาพการศึกษาคงเกิดได้

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงฉายพระรูปร่วมกับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ทั้ง 5 รุ่น
(ที่มา: https://www.facebook.com/photo?fbid=558005986617080&set=a.178629904554692&locale=th_TH)
ในปัจจุบันความสามารถในการสื่อสารมีมากขึ้น เดี๋ยวนี้อินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้หมด จึงไม่เป็นอุปสรรคไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน หลายสิ่งหลายอย่างประกอบกันก็น่าจะช่วยให้การศึกษาดีขึ้น และพลังจากนานาชาติก็จะส่งเสริมซึ่งกันและกัน
ก้าวที่มาไกลของวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย
ถ้าเปรียบเทียบประเทศไทยปัจจุบันกับเมื่อ 50 ปีก่อน ก็ถือว่าก้าวหน้ามาไกล มีการก่อตั้ง สสวท. (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) มีความพยายามปฏิรูปหลักสูตรการสอนวิทยาศาสตร์ให้เป็นแบบ Active Learning การศึกษาระดับสูงก็เริ่มเห็นผลกลายเป็นงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้งานได้ ถึงวันนี้ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงไปมาก
ถามว่ามีปัญหาไหม ก็มีปัญหาด้านความทั่วถึงของการให้การศึกษาที่ดี การศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องลงมือทำในรายละเอียด เพื่อปรับเปลี่ยนคนแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน ฉะนั้นจะใช้การศึกษาแบบเดียวกันให้ได้ผลอย่างเดียวกันในคนที่ไม่เหมือนกันคงไม่ได้ จึงต้องคิดว่าในเมื่อแต่ละคนแตกต่างกัน เราจะให้การศึกษาให้เข้าถึงทุก ๆ คน และสนับสนุนศักยภาพเขาไปในทิศทางที่ดีได้อย่างไร เพื่อให้มีความสามารถสูงยิ่งขึ้น สามารถช่วยจรรโลงสังคม ประเทศชาติ และโลกนี้ได้
ตอนนี้ก็มีโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ที่เป็นเสาหลักที่จะขยายผลไปยังกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และโครงการ วมว. รวมทั้งยังมีห้องเรียนวิทยาศาสตร์ โครงการโอลิมปิกวิชาการ มีทุน พสวท. ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษให้ได้ไปเรียนต่อสายวิทยาศาสตร์ มีการส่งเสริมให้ทุนครูมากพอสมควร และกระทรวงเองก็ตั้งทุนให้ผู้ที่จะไปเรียนทางสายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไม่เคยขาดสาย โดยรวมมองว่าในสายการสร้างผู้มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์ เราทำได้ดี ต่อเนื่อง และเห็นผล แต่จะให้เปลี่ยนแปลงแล้วเห็นผลทันทีเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ ต้องใช้เวลา
มีความหวังว่าจากนี้ไปประเทศไทยจะมีความเจริญก้าวหน้าในเรื่องของการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ใช่ว่าจะให้ได้แต่เพียงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องของการสอนวิทยาศาสตร์คือ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการแก้ปัญหา การคิดเชิงวิเคราะห์ เพื่อให้สามารถคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมาได้ นี่คือสิ่งที่สำคัญมากกว่า คือเป็นการสร้างนิสัยอยากรู้อยากเห็น ชอบตั้งคำถาม ช่างสังเกตสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็ก ตัวอย่างในช่วงชั้นอนุบาล เราได้ใส่หลักสูตรเสริมเข้าไปเรียกว่า “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” เป็นกิจกรรมในระดับอนุบาล และเริ่มขยายไประดับประถมศึกษาตอนต้น เป็นโครงการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงริเริ่ม รูปแบบมาจากโครงการบ้านนักวิจัยน้อย ประเทศเยอรมนี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ปัจจุบันมีโรงเรียนสมาชิกกว่า 30,000 แห่งทั่วไทย เพื่อให้เด็กรักวิทยาศาสตร์ รักกระบวนการแก้ไขปัญหา มีความอยากรู้อยากเห็นเป็นนิสัยติดตัว
สรุปว่าถ้าพูดถึงโครงการส่งเสริมการศึกษาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยก็น่าจะครบทุกระดับแล้ว แต่เราต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้มีคุณภาพสูงขึ้น ต้องดูแลรักษาผู้ที่มีความสามารถพิเศษให้ดี ไม่อย่างนั้นจะเป็นการเสียโอกาส ตอนนี้ถือว่าเราทำได้ครบทุกกระบวนการ แต่เราจะทำอย่างไรให้ดีขึ้นและทั่วถึงมากขึ้น ให้มีโอกาสเท่าเทียมกันสำหรับทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย และถ้าเป็นไปได้ก็คือเผยแพร่ไปทั่วโลกให้ได้ด้วย เพื่อจะช่วยกันพัฒนาคน พัฒนาโลกให้ยั่งยืน
พระมหากรุณาธิคุณต่อการศึกษาไทย
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการศึกษาไทยมาก เวลาเสด็จฯ ไปต่างประเทศก็มักจะมีกำหนดการเยี่ยมชมโรงเรียน มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยต่าง ๆ เพื่อให้ได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และมรดกวัฒนธรรม พระองค์ทรงใฝ่หาความรู้อย่างยิ่ง เวลาเสด็จฯ ไปที่ไหนจะทรงจดบันทึกตลอด แล้วก็ทรงถามคำถาม สิ่งหนึ่งที่โปรดมากคือพิพิธภัณฑ์และสวนพฤกษศาสตร์ซึ่งเป็นแหล่งการศึกษานอกระบบที่ดีที่สุด เป็นการศึกษาที่ทำให้เข้าใจบริบทวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ความคิดความอ่านของคนในถิ่นนั้น ๆ อย่างรวดเร็ว
พระองค์ทรงมีทัศนคติต่อการศึกษาที่ชัดเจนมากคือ มีพระราชประสงค์ให้คนทุกคนมีโอกาสศึกษาเรียนรู้ โอกาสเป็นสิ่งสำคัญมาก จึงทรงทำทุกอย่างเพื่อให้เด็กได้เรียนหนังสือ ได้เข้าถึงแหล่งการศึกษา ตอนที่ทรงเริ่มโครงการแรกของพระองค์เอง เริ่มต้นที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 3 โรงเรียนที่อยู่ในขอบข่ายที่ทรงดูแลได้เองและไม่ไกลจากกรุงเทพเกินไป ไม่ได้เริ่มที่การเรียนในห้องเรียน แต่เน้นเรื่องปากท้องก่อน มีพระราชดำริว่าจะต้องสอนให้เขาสร้างอาหารเองได้ คือปลูกพืชผักสวนครัว ทำการเกษตรเป็น ต่อมามีชื่อเรียกว่า “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน” สืบเนื่องมาถึงทุกวันนี้ จะเห็นได้ว่าตอนเริ่มต้นไม่ได้เริ่มจากการศึกษาโดยตรง แต่เริ่มต้นจากการเกษตร พอมีอาหาร อย่างอื่นก็ตามมา ปัญหาเรื่องน้ำ เรื่องดิน เรื่องแมลง เรื่องสุขภาพ ก็เอาวิชาต่าง ๆ เข้ามาแก้ปัญหา วิชาต่าง ๆ สามารถมาผูกกับการเกษตรได้นับไม่ถ้วน โดยเฉพาะกระบวนการแก้ปัญหาและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในที่สุดก็มาถึงการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตของเด็ก เป็นการเรียนการสอนที่เอาประสบการณ์เป็นตัวตั้ง แล้วเอาเนื้อหาใส่เข้าไป สิ่งที่ได้คือ การมีนิสัยช่างคิด ช่างถาม ช่างสังเกต และสามารถแก้ปัญหาได้ ตอนเริ่มโครงการแรกนี้ประมาณ พ.ศ. 2523 หลังจากนั้นในแต่ละปีก็มีโรงเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ต่อมาทรงมีโครงการด้านการศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ โครงการตามพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษามีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ใช่เฉพาะต่างจังหวัดเท่านั้น โรงเรียนในกรุงเทพก็มี โรงเรียนในต่างประเทศก็มี และใช้หลักการนี้ในหลายโรงเรียนซึ่งเป็นหลักการที่ครอบคลุม นอกจากสวนเกษตรในโรงเรียนแล้ว ก็ยังมีสวนพฤกษศาสตร์ซึ่งสอนให้เด็กรักธรรมชาติ มีความรู้เกี่ยวกับพืช และยังอนุรักษ์พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่อยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วย เป็นอะไรที่ฉลาดมาก ทำให้ได้เรียนรู้ครบถ้วนทุกกระบวนการ ทำให้เด็กได้รู้จริง รู้เข้าไปในส่วนลึกของจิตใจ จนเป็นการสร้างนิสัย การศึกษาเป็นการเปลี่ยนคนและทำให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองและคนอื่นได้ ในกระบวนการสอนระยะแรก ๆ แทนที่จะสอนคณิตศาสตร์ธรรมดา ก็สอนให้ทำบัญชี สอนเรื่องการธนาคาร หลายสิ่งหลายอย่างรวมใส่เข้าไปในโรงเรียน กลายเป็นว่าโรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาชุมชน ผู้ปกครองเข้ามาช่วย ใคร ๆ ก็มาช่วย เป็นความคิดที่ดีมาก ๆ พระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณแก่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และทรงช่วยเหลือโรงเรียนอีกมากมาย ไม่ว่าโรงเรียนขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ โรงเรียนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โรงเรียนพระปริยัติธรรมก็ทรงช่วยทุกแห่ง และทรงช่วยเหลือต่อเนื่องยาวนาน เป็นน้ำพระทัยที่หาที่สุดไม่ได้ของพระองค์
นอกจากนี้ทรงริเริ่มการพัฒนาการศึกษาในระดับสูง โดยร่วมมือกับหน่วยงานระดับโลกในต่างประเทศ เช่น CERN (The European Organization for Nuclear Research), JUNO (Jiangmen Underground Neutrino Observatory) และ DESY (Deutsches Elektronen-Synchrotron) เป็นต้น ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยในต่างประเทศมากมายถวายพระเกียรติยกย่องพระองค์เป็นศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์บ้าง ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญากิตติมศักดิ์บ้าง ด้วยเห็นว่าพระองค์ทรงเป็นครูผู้เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณครูและเป็นนักการศึกษาที่แท้จริง หลายมหาวิทยาลัยทูลเกล้าฯ ถวายทุนการศึกษาแด่พระองค์เพื่อพระราชทานแก่นักเรียนนักศึกษา พระราชทานทุนจำนวนมากมายให้แก่คนทุกระดับ และทุกคนมีโอกาส
ทิศทางของการศึกษาไทยในอนาคต
ทุกวันนี้เราลงทุนด้านการศึกษามากพอสมควร แต่ต้องไม่ลืมวิเคราะห์ว่ายังมีส่วนใดที่เรายังลงทุนไม่พอ ถ้าลงทุนแล้วได้ผลก็ดี แต่ต้องรู้แน่ชัดว่าจะลงทุนอย่างไรให้คุ้มค่า
ทุกคนจำเป็นต้องศึกษาตลอดเวลาและตลอดชีวิต ยิ่งมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเจริญมากเท่าไร ก็ยิ่งสนับสนุนการศึกษายิ่งขึ้นเท่านั้น ใครอยากเรียนอะไรตอนไหนก็สามารถทำได้ ถ้าเราไม่ตระหนัก เราก็อาจจะล้าหลัง การศึกษาช่วยจรรโลงสังคม เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต้องเริ่มจากจุดที่ดีและจุดที่พร้อม ในขณะนี้ทักษะต่าง ๆ มีมากมาย ก็เป็นห่วงเรื่อง AI ที่กำลังมาแรง เพราะ AI ช่วยเราก็จริง แต่บางครั้งก็ทำให้คนเราไม่อยากใช้ความคิด การศึกษาต้องสอนให้คนฉลาดคิด ถ้าเราไม่สร้างนักคิด เราจะกลายเป็นทาสความคิดของคนอื่น ท้ายที่สุดแล้วให้ AI ทำทั้งหมด ใครจะเป็นคนสอนให้รู้จักฉลาดคิด รู้จักตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ดังนั้นก็ควรเป็นโลกที่คนรุ่นใหม่ช่วยกันพัฒนาในแต่ละรุ่นต่อ ๆ ไป โดยไม่ลืมเรื่องการสืบทอดความฉลาดคิดและคิดดี
สุดท้ายนี้อยากย้ำว่าวิทยาศาสตร์เป็นความรู้ที่จำเป็น ถ้าเกิดมาแล้วไม่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ก็จะเป็นภัยต่อตัวเองได้ เช่น การจะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เราก็ต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์มีประโยชน์ต่อการทำมาหากิน และส่วนลึกของวิทยาศาสตร์แท้จริงคือการสร้างนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่ตั้งคำถาม และใฝ่แก้ปัญหา นิสัยแบบนี้ทำให้มีความคิด ฉลาดมากขึ้น และถ้าเราฉลาดขึ้น ก็สมแล้วที่ได้เกิดมา
ความฉลาดที่สุดคือ การรู้คิดว่าเราเกิดมาทำไม จะทำอย่างไรจึงจะไปถึงเป้าหมายของชีวิต และเราจะทำประโยชน์อะไรให้แก่สังคมได้บ้าง