ดวงแข ศรีคุณ*, อุษา จีนเจนกิจ
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
*Email: duangkhae.sri@mwit.ac.th
งานประชุม ICCE 2024
สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้รับสิทธิ์ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการระดับโลก The 27th IUPAC International Conference on Chemical Education (IUPAC ICCE 2024) จาก International Union of Pure and Applied Chemistry (IUPAC) ซึ่งมีสมาชิกสมาคมจาก 65 ประเทศทั่วโลก ในวันที่ 15-19 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา การประชุมครั้งนี้มีเจ้าภาพร่วมในการจัดงาน ได้แก่ 1) คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 3) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
หัวข้อการประชุมหลักในครั้งนี้ คือ “Power of Chemistry Education for Advancing SDGs” นอกจากการนำเสนอผลงานแบบบรรยายและโปสเตอร์แล้ว งาน ICCE 2024 ยังมีการจัดประชุมกลุ่มย่อยสำหรับหัวข้อที่อยู่ในความสนใจในรูปแบบ Symposia ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญหัวข้อนั้น ๆ เป็นวิทยากรหลัก การนำเสนอผลงานที่สอดคล้องกับหัวข้อนั้น และการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ได้แก่
- Symposium A: The 12th International Symposium on Microscale Chemistry (12ISMC)
- Symposium B: Modeling-Based Instruction and Assessment for Chemistry Education
- Symposium C: Connecting Competency-Based Chemistry Education and the Challenge of Sustainable Development
- Symposium D: Advancing Chemical Safety and Security Education
- Symposium E: System Thinking in Chemistry for Sustainability
- Symposium F: Green and Sustainable Chemistry in the Chemistry Curriculum: Advances and Models
ห้องเรียนเคมีดาว และผู้ร่วมอุดมการณ์จากทั่วโลก
ประธานจัดงานประชุม ICCE 2024 ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในการจัดงานประชุม ICCE คือ การให้ทุนสนับสนุนครูเคมีระดับมัธยมศึกษาให้ได้เข้าร่วมงานประชุมและนำเสนอผลงานวิชาการ โดยสนับสนุนค่าลงทะเบียนให้ครูที่ส่งผลงานนำเสนอจากทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ 102 คน และครูต้นแบบจากโครงการห้องเรียนเคมีดาว 21 คน บุคลากรสาขาวิชาเคมี โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ได้แก่ ดร.อุษา จีนเจนกิจ และ ดร.ดวงแข ศรีคุณ ได้รับทุนสนับสนุนในกลุ่มครูต้นแบบของโครงการห้องเรียนเคมีดาว โดยนำเสนอผลงานวิจัยในชั้นเรียนเรื่อง Promoting of environmental awareness through inquiry-based small-scale experiment on acid rain (ICCE 2024 Special Award for Poster Presentation) รวมถึงมีส่วนร่วมในกิจกรรมแสดงรำไทยสี่ภาคในงานเลี้ยงต้อนรับ และการจัดนิทรรศการสาธิตการทดลองเคมีย่อส่วนร่วมกับครูผู้สนใจจากนานาประเทศ

อบรมความปลอดภัยผ่านการเล่มเกม
ความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการเป็นประเด็นที่ IUPAC ให้ความสำคัญมาก ผลงานหนึ่งที่โดดเด่นคือ การพัฒนาหลักสูตรอบรมความปลอดภัยโดยใช้ Virtual Reality (VR) โดย National University of Singapore (NUS) ปัจจุบันการทำ VR มีความสะดวกรวดเร็วขึ้นจากการใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ทีมนักวิจัยจาก NUS ใช้การถ่ายภาพสถานที่จริงด้วยกล้อง Insta360 จากนั้นใช้โปรแกรม Uptale เพื่อระบุตำแหน่งสิ่งของที่ผู้เล่นสามารถมีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้ การอบรมความปลอดภัยด้วย VR เป็นรูปแบบใหม่ที่ผนวกใช้ Gamification กับการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัย ผู้เรียนสามารถเดินไปตามจุดต่าง ๆ ใน VR อย่างอิสระ ไม่มีการกำหนดขั้นตอน เสมือนกับผู้เรียนเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ
สร้างเยาวชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
Prof. Peter G. Mahaffy จาก King’s Center for Visualization in Science (KCVS) ประเทศแคนาดา เป็น Keynote speaker พิธีเปิดงานในหัวข้อ Chemistry Education Today for Our 2050 World โดยมีใจความสำคัญคือ การศึกษาควรพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถคิดอย่างเป็นระบบ (System thinking) จากการเชื่อมโยงองค์ความรู้ หลักฐาน ปรากฏการณ์ การให้เหตุผล เพื่อการสร้างคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการออกแบบการเรียนรู้ตามแนวทาง System thinking การขับเคลื่อนแนวปฏิบัตินี้ประสบปัญหาคือ ครูขาดประสบการณ์ และไม่มีตัวอย่างสื่อการจัดการเรียนรู้ ศูนย์ KCVS จึงได้พัฒนาตัวอย่างบทเรียน รวมถึงเครื่องมือสำหรับใช้ในการจัดกิจกรรม เช่น SOCKit เป็นโปรแกรมสำหรับทำแผนผังความเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบในระบบ ทีมวิทยากรได้แนะนำวารสาร ChemMatters (ACS) และวารสาร Education in Chemistry (RSC) เพื่อเป็นตัวช่วยในการอัปเดตข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสอนเคมี รวมถึงเผยแพร่แหล่งเรียนรู้และสื่อต่าง ๆ ที่สามารถช่วยเติมเต็มความรู้รอบของครูผู้สอน ทั้งเนื้อหาหลักและการบูรณาการกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

งานประชุม ICCE 2026
งานประชุมครั้งต่อไปในปี 2026 ในชื่องาน ICCE 2026 จะจัดขึ้นที่ประเทศตุรกี โดยจัดร่วมกับงาน European Conference on Research in Chemical Education (ECRICE 2026) ในวันที่ 13-17 กรกฎาคม 2569 มีหัวข้อการประชุมคือ “Chemistry Education in the Age of Artificial Intelligence” ครูผู้สอนเคมีอย่ารอช้า มาร่วมเป็นก้าวหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนการสร้างสมรรถนะการทำงานร่วมกับ AI เริ่มตั้งแต่ในระดับโรงเรียน
อ้างอิง
King’s Center for Visualization in Science. (n.d.). SOCKit: SOCME Online Construction Kit. https://applets.kcvs.ca/sockit/
The 27th IUPAC International Conference on Chemistry Education – ICCE 2024. (n.d.). https://www.icce2024thailand.com/
The 28th IUPAC International Conference on Chemistry Education & The 17th European Conference of Research in Chemical Education (ICCECRICE 2026). (n.d.). https://iccecrice2026.org/