สุภาพัชร์ สินกันทรากร
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
Email:
ในปัจจุบันการศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไปมากเนื่องจากพัฒนาการของเทคโนโลยีและสภาพการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้เรียนมองเห็นโอกาสและสามารถที่จะเลือกแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลายขึ้น และการเรียนรู้ภาษาในยุคปัจจุบันถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะภาษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับคนอื่น ๆ รวมถึงการเข้าใจวัฒนธรรม ความคิดเห็นที่แตกต่างกันของคนจากวัฒนธรรมต่าง ๆ การเรียนรู้ภาษาทำให้เราสามารถเชื่อมโยงกับคนในโลกใบนี้ได้มากขึ้น การเลือกเรียนภาษาเยอรมันเป็นภาษาที่ 3 หมายความว่านักเรียนกำลังออกเดินทางสู่โลกของภาษาที่สวยงามและแปลกตาตามลำดับ เยอรมันเป็นภาษาที่มีความสอดคล้องกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่หลากหลาย รวมถึงมีความสำคัญในด้านวิทยาศาสตร์และสังคมธุรกิจ แม้ว่าการเรียนภาษาเยอรมันอาจเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่ก็เป็นการเรียนรู้ที่สนุกและทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ในการเข้าใจและเชื่อมโยงกับโลกใบนี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น
การเรียนภาษาเยอรมันใน MWIT
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (MWIT) เป็นส่วนหนึ่งในโครงการความร่วมมือ “โรงเรียน: พันธมิตรแห่งอนาคต” หรือ “Schools: Partner for the Future” (PASCH) โดยกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ร่วมกับสถาบันภาษาและวัฒนธรรมเยอรมันเกอเธ่ สนับสนุนให้มีการพบปะแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ตลอดจนการพัฒนาทางด้านการศึกษาร่วมกันในระดับนานาชาติผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ตัวอย่างกิจกรรมที่นักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ได้เข้าร่วม เช่น กิจกรรมเยอรมัน(ส์)สัญจร (Deutschmobil), การประกวดแข่งขันทักษะการใช้ภาษาเยอรมัน (Tag der deutschen Sprache), Rolls-Royce STEM in Aerospace Talk and Workshop, Universum.Mensch.Intelligenz. (UMI) Exhibition และทุนค่ายวิชาการนานาชาติเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมที่ประเทศเยอรมนี รวมถึงการสนับสนุนด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนภาษาเยอรมันในโรงเรียนด้วย
การจัดการเรียนการสอนภาษาเยอรมันในโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เน้นสร้างพื้นฐานในการสื่อสารด้วยภาษาเยอรมันในชีวิตประจำวัน (Communicative Approach) และฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน ผ่านบทเรียนที่สอดแทรกวัฒนธรรมและแบ่งเป็นสถานการณ์ย่อย ๆ โดยใช้สื่อการสอนหลักตามที่มีการตกลงร่วมกันในสมาคมครูภาษาเยอรมันแห่งประเทศไทย คือ หนังสือ Klasse: Deutsch für Jugendliche และเสริมด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรมเยอรมันที่หลากหลายตามความเหมาะสมและความต้องการของนักเรียนแต่ละกลุ่ม
การผลิตคลิปวิดีโอภาษาเยอรมัน
จากกิจกรรมต่าง ๆ ในห้องเรียนนำมาสู่การผลิตคลิปวิดีโอภาษาเยอรมันเพื่อช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางภาษาของนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพและสนุกสนาน ในรูปแบบ asynchronous learning ประกอบไปด้วยหัวข้อ คำทักทายและคำกล่าวลา, ประเทศ, ภาษา, วิชาเรียน, กิจกรรมยามว่าง, ตัวเลข, การบอกเวลา, อาชีพ, ครอบครัว, สัตว์เลี้ยง, อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น โดยแต่ละคลิปวิดีโอจะมีขอบเขตด้านเนื้อหาที่ชัดเจน เช่น ในวิดีโอเรื่อง “กิจกรรมยามว่าง” จะมีเฉพาะคำศัพท์และตัวอย่างบทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับงานอดิเรกเท่านั้น ซึ่งจะทำให้นักเรียนสามารถเลือกหัวข้อที่ต้องการเรียนรู้หรือทบทวนได้อย่างตรงประเด็น

จากรูปที่ 1 คำศัพท์ “Sport machen เล่นกีฬา” จะเห็นว่าด้านซ้ายเป็นคำศัพท์ภาษาเยอรมัน ด้านขวาเป็นคำแปลภาษาไทย โดยมีรูปภาพประกอบคำศัพท์เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น พร้อมภาพเคลื่อนไหวของผู้พูดประกอบอยู่บริเวณด้านล่างขวา เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้คำศัพท์และฝึกออกเสียงไปได้ในขณะเดียวกัน และในช่วงท้ายของคลิปวิดีโอจะเป็นตัวอย่างบทสนทนาสั้น ๆ เช่น ประโยคคำถามและคำตอบ Was ist dein Hobby? กิจกรรมยามว่างของเธอคืออะไร และ Mein Hobby ist Tennis. กิจกรรมยามว่างของฉันคือการเล่นเทนนิส เป็นต้น
เพื่อรวบรวมและประมวลข้อมูลสำหรับการปรับปรุงพัฒนาสื่อรวมถึงการจัดการเรียนการสอน ผู้เขียนในฐานะครูผู้สอนรายวิชาภาษาเยอรมันจึงได้ทำการศึกษาวิจัยในชั้นเรียน เรื่อง “การศึกษาความพึงพอใจการใช้คลิปวิดีโอประกอบการเรียนวิชาภาษาเยอรมันในรูปแบบ asynchronous learning” (A Study of Satisfaction in Using the German Language Asynchronous Learning Video Clips) ซึ่งทำการศึกษาโดยใช้สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และแบบสอบถามความพึงพอใจในการใช้คลิปวิดีโอเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนการสอนวิชาภาษาเยอรมัน จำนวน 6 ด้าน ได้แก่
- ความเหมาะสมของหัวข้อและเนื้อหา
- ความเหมาะสมของภาพประกอบการบรรยาย
- ความเหมาะสมของเสียงบรรยาย
- ความเหมาะสมของความยาววิดีโอ
- ความพึงพอใจในภาพรวม
- ความคิดเห็นเพิ่มเติม / ข้อเสนอแนะ / หัวข้อที่สนใจ
ผลการศึกษาพบว่า ความพึงพอใจของผู้เรียนต่อการสอนโดยใช้คลิปวิดีโอในแต่ละหัวข้อมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับดีมาก โดยภาพรวมผู้เรียนมีความพึงพอใจมากที่สุด
ตัวอย่างของความคิดเห็นเพิ่มเติม / ข้อเสนอแนะ / หัวข้อที่สนใจ
- เนื้อหามีความน่าสนใจ ฟังเข้าใจง่าย เป็นแหล่งให้นักเรียนได้ใช้ทบทวนความรู้ได้ดี ภาพที่นำมาประกอบการสอนช่วยเพิ่มความเข้าใจ รวมถึงการออกเสียงของอาจารย์ฟังง่ายและเข้าใจง่าย ไม่ยาวเกิน attention span อันน้อยนิดของนักเรียนค่ะ
- อยากให้พัฒนาคุณภาพเสียง เพิ่ม subtitle ประกอบแต่ละคลิปวิดีโอ และอยากให้ใส่คำอ่านสำหรับคำที่มีหลายพยางค์และออกเสียงยากครับ
- สนใจให้เพิ่มคำศัพท์ที่หลากหลายในหมวดหมู่ต่าง ๆ เช่น หมวดหนังสือ ภาพยนตร์ ชีวิตประจำวัน และการทำอาหารเยอรมัน รวมถึงการพูดโต้ตอบไปมา เพื่อให้เห็นการพูดในการสนทนาจริง ๆ ค่ะ
จากการศึกษาการเรียนรู้แบบ asynchronous การใช้คลิปวิดีโอที่ผู้เขียนผลิตขึ้นช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามระยะเวลาของตนเอง ไม่จำเป็นต้องปรับตัวตามเวลาของคาบเรียนที่กำหนดไว้ ผู้เรียนสามารถเข้าถึงคลิปวิดีโอการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา คลิปวิดีโอสามารถกระตุ้นความสนใจ ผู้เรียนสามารถทบทวนความเข้าใจของพวกเขาและฝึกทักษะในการใช้ภาษาโดยการดูคลิปวิดีโอซ้ำ ๆ ได้ตามต้องการ ผู้เรียนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์กับผู้เรียนคนอื่นผ่านช่องทางออนไลน์หรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ผู้สอนจัดทำขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ผลการศึกษาจะอยู่ในระดับดีมากและมากที่สุด แต่การพัฒนาผู้เรียนและการพัฒนาสื่อจะยังคงเป็นสิ่งที่ผู้เขียนจะทำให้ดียิ่งขึ้นต่อไป รวมถึงการนำปัญหาและข้อเสนอแนะต่าง ๆ มาปรับปรุงพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น “Auf Wiedersehen.”
อ้างอิง
ทิศนา แขมมณี. (2543). 14 วิธีสอนสำหรับครูมืออาชีพ. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พีระศักดิ์ จิ้วตั้น, ยุพาพร รักสกุลพิวัฒน์ และอภิญญา ลิ้มสุวัฒน์. (2563). การสำรวจความพึงพอใจของนักศึกษาต่อห้องเรียน Active Learning และผลกระทบต่อการส่งเสริมการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. วารสารวิจัยสถาบัน มข., 1(3), 285-299. https://irj.kku.ac.th/images/journal/2b60ad2b3a7842eb80ed755289b16280.pdf
ศลิษา เตรคุพ. (2553). ประสิทธิผลของเกมและเพลงช่วยสอนในรายวิชาภาษาเยอรมันเบื้องต้น 1. วารสารมนุษยศาสตร์, 17(2), 41-56. https://so04.tci-thaijo.org/index.php/abc/article/view/54275
สร้างสรรค์ กระตุฤกษ์, พัทธนันท์ พาป้อ, ปพิชญา พรหมกันธา และปุ่น ชมภูพระ. (2565). ความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อการใช้สื่อ และนวัตกรรมส่งเสริมการอ่าน. The New Viridian Journal of Arts, Humanities and Social Sciences, 2(3), 45-60. https://so01.tci-thaijo.org/index.php/The_New_Viridian/article/view/257890/171150
สุภาพัชร์ สินกันทรากร. (2565). คลิปวิดีโอคำศัพท์ภาษาเยอรมัน เรื่อง กิจกรรมยามว่าง. MWIT Media. https://media.mwit.ac.th/w/2441HqfXp4qXHscrDDGLnC
สุภาพัชร์ สินกันทรากร. (2566). A Study of Satisfaction in Using the German Language Asynchronous Learning Video Clips. รายงานวิจัยในชั้นเรียน สาขาวิชาภาษาต่างประเทศ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์. https://sites.google.com/mwit.ac.th/foreign-language-department/Materials/german-materials?pli=1
อรวรรณ ระย้า. (2556). ศึกษาความพึงพอใจและความคิดเห็นของผู้ใช้สื่อแอนิเมชันช่วยในการจัดการเรียนการสอน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 4. วารสารวิชชา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, 32(1), 28-32. https://li01.tci-thaijo.org/index.php/wichcha/article/view/100533
Fleer, S. (2018). Klasse: Deutsch für Jugendliche: Arbeitsbuch. Ernst Klett Sprachen.
Fleer, S. (2018). Klasse: Deutsch für Jugendliche: Kursbuch. Ernst Klett Sprachen.