พิริยา ยังรอต และคณะทำงานแนะแนวการศึกษา
Mahidol Wittayanusorn School, Putthamonthon District, Nakorn Pathom
Email: ,
“การงานเป็นประตูเปิดความสามารถของเราออกไปให้เป็นประโยชน์แก่โลกภายนอก พลังงาน ความคิด และจิตใจที่สร้างสรรค์ของเราจะสามารถปรากฏและเป็นประโยชน์ให้กับโลกใบนี้ ดังนั้นการงานจึงเป็นสะพานระหว่างตัวเรากับโลกภายนอก” เป็นคำกล่าวของรองศาสตราจารย์ ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว คุณครูของข้าพเจ้าจากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้าพเจ้าชื่นชอบทรรศนะดังกล่าว จึงนำมาเป็นหลักการในการทำงาน และข้าพเจ้ารู้สึกอิ่มเอิบ เป็นสุข และภาคภูมิใจที่การทำงานของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นไม่มากก็น้อย
ข้าพเจ้าจึงคิดว่าน่าจะดีไม่น้อยหาก “นักเรียน” ที่ข้าพเจ้าดูแลจะมีโอกาสได้สัมผัสความรู้สึกเช่นนี้ นี่คงเป็นเป้าหมายสูงสุดที่ข้าพเจ้าอยากให้เกิดขึ้นกับนักเรียนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
ดังนั้นข้าพเจ้าจึงตั้งปณิธานว่าจะวางรากฐานของกิจกรรมแนะแนวการศึกษาต่อให้เป็น “พื้นที่ที่นักเรียนทุกคนสามารถสัมผัสได้ถึงความเข้าอกเข้าใจ” พร้อมทั้งส่งเสริม สนับสนุน ให้นักเรียนเกิดการตระหนักรู้ในตนเอง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความเชี่ยวชาญของตนเอง สามารถเลือกเส้นทางในอนาคตที่เหมาะสมกับบริบทของเขา อีกทั้งยังหวังว่าในวันข้างหน้า การงานจะเป็นประตูที่เปิดความสามารถของพวกเขาออกไปให้เป็นประโยชน์แก่โลกภายนอก
กิจกรรมแนะแนวการศึกษาต่อ ในช่วงหลักสูตรโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พุทธศักราช 2562
ในช่วงหลักสูตรฯ พุทธศักราช 2562 กิจกรรมแนะแนวการศึกษาต่อถูกบรรจุเป็นคาบเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 2 โดยออกแบบบนพื้นฐานที่ว่า นักเรียนจะสามารถเลือกเส้นทางการศึกษาของตนเองได้ดีที่สุด จะต้องเริ่มจากการรู้จักตนเองก่อนว่า “ฉันเป็นใคร” “ให้คุณค่ากับสิ่งใดในชีวิต” “มีความถนัดและความสนใจอะไร” “อยากทำอะไร” และเมื่อนักเรียนเริ่มเห็นเค้าลางแล้ว ห้องเรียนวิชาแนะแนวฯ จะฝึกฝนให้นักเรียนรู้จักการนำเสนอตัวตนของตนเอง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าศึกษาต่อในสถาบันที่คาดหวังไว้
เมื่อนักเรียนผ่านกิจกรรมในชั้นเรียนดังกล่าวแล้ว คุณครูจะนัดหมายนักเรียนทุกคนเข้าพบเพื่อพูดคุยเป็นรายบุคคลก่อนที่นักเรียนจะขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อทบทวนความก้าวหน้าบนเส้นทางการแสวงหาความตระหนักรู้ในตนเอง
เมื่อขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คุณครูจะช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคลในการเตรียมตัวสมัครเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่วางแผนศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยในประเทศด้วยระบบ TCAS รอบ 1 Portfolio ซึ่งการเตรียมตัวนั้นคุณครูและนักเรียนจะช่วยกันวิเคราะห์ตัวตน ดึงจุดเด่นและแรงจูงใจในการเลือกศึกษาต่อในคณะที่นักเรียนสนใจออกมานำเสนอ เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับคัดเลือกให้มากขึ้น เพราะมหาวิทยาลัยจะมองหาผู้สมัครที่มีคุณลักษณะเหมาะสมกับคณะและสาขานั้น ๆ การสะท้อนบุคลิกภาพ (Personality) ทัศนคติ (Attitude) ทักษะ (Skills) ความรู้ (Knowledges) ความสามารถ (Abilities) เป้าหมายและแรงจูงใจ (Goal and Passion) ของนักเรียน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องนำเสนอ
อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้ต้องการการสะท้อนตัวตนของนักเรียนอย่างลึกซึ้ง นักเรียนจะต้องตั้งและตอบคำถามเกี่ยวกับตนเอง เช่น “ทำไมจึงอยากเข้าเรียนในคณะหรือสาขาวิชานี้” “อะไรทำให้เรามีเป้าหมายที่อยากจะทำสิ่งนี้” เมื่อนักเรียนเริ่มทบทวนแรงจูงใจของตนเอง นักเรียนจะเริ่มค้นพบว่า ใคร เหตุการณ์ใด กิจกรรมใด มีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมความเป็นตนเองและการเลือกเส้นทางการศึกษาต่อนี้ จากประสบการณ์ข้าพเจ้าสามารถแบ่งกลุ่มนักเรียนได้เป็นสองลักษณะ
ลักษณะที่ 1: กลุ่มนักเรียนที่ทบทวนตนเองแล้วพบว่าประสบการณ์ในอดีตหล่อหลอมตัวตนของเขาได้สอดคล้องกับเป้าหมายของเขา
ตัวอย่างเช่น นักเรียน A ตั้งใจจะสมัครหลักสูตรแพทยศาสตร์-วิศวกรรมชีวการแพทย์ เขามีเป้าหมายที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สามารถสร้างประโยชน์เป็นวงกว้างให้ผู้อื่น ที่มาของเป้าหมายนี้มาจากการที่เขาเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียนในห้องเรียน ช่างสงสัย และชอบค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม จึงเป็นเด็กที่มีความรู้มากและอยากนำความรู้ไปใช้ เขาจึงเข้าร่วมการแข่งขันทางวิชาการ เลือกทำโครงงานวิจัยที่สนใจ และค้นพบว่าสามารถนำความรู้ไปออกแบบสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ แรงบันดาลใจในการทำประโยชน์ให้ผู้อื่นเริ่มจากการอาสาเข้ามาเป็นฝ่ายศิลป์ในงานกีฬาสีของโรงเรียน เพราะคิดว่าตนเองมีความสามารถด้านนี้และใช้มันให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมได้ จากบทบาทนี้เขาจึงเริ่มตระหนักในศักยภาพของตนเองและมีความสุขในการทำประโยชน์ให้ผู้อื่น จึงขยายขอบเขตไปสู่การเป็นประธานคณะสีที่ปฏิรูประบบการซ้อมเชียร์ และปรับรูปแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ COVID-19 จากนั้นขยายตนเองไปเป็นกระบอกเสียงให้เพื่อน ๆ โดยเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการนักเรียน เป็นสื่อกลางระหว่างโรงเรียนกับนักเรียน เพื่อช่วยพัฒนาระบบการดูแลนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าเส้นเรื่องของเขาต่อเนื่องและร้อยเรียงกันอย่างราบรื่น
ลักษณะที่ 2: กลุ่มนักเรียนที่ทบทวนตนเองแล้วพบว่าประสบการณ์ในอดีตที่หล่อหลอมตัวตนของเขาไม่สอดคล้องกับเป้าหมาย
ตัวอย่างเช่น นักเรียน B ตั้งเป้าหมายที่จะเข้าศึกษาต่อในคณะบริหารธุรกิจ ที่มาของเป้าหมายมาจากตอนเด็ก ๆ เขาชอบวิชาคณิตศาสตร์ เขาสนุกและท้าทายในการแก้ไขโจทย์ปัญหา จึงเป็นนักเรียนที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์เป็นพิเศษ การเป็นคนที่มีความสามารถในการเรียนนี้ตามมาด้วยความคาดหวังจากสังคมว่าเขาเป็นคนเก่ง และต้องเข้าเรียนในโรงเรียนเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ในที่สุดเขาก็สามารถสอบเข้าเรียนในโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ แล้วจึงพบว่าแท้จริงแล้วเขาไม่ชอบวิทยาศาสตร์ ดังนั้นตลอดการเรียนในแต่ละภาคเรียน เขาจึงต้องแบ่งความสนใจของเขาจากวิชาคณิตศาสตร์ พยายามติดตามเนื้อหาและทบทวนบทเรียนวิทยาศาสตร์ให้ทัน เพื่อให้เขามีผลการเรียนที่ดี เขาปฏิบัติตนเช่นนี้เรื่อยมาจนกระทั่งถึงช่วงเข้าพูดคุยรายบุคคลกับข้าพเจ้า เขามาด้วยโจทย์ที่ว่า “หนู/ผมจะเป็นอะไรดีคะ/ครับครู” เราได้พูดคุยกันจนพบว่าเขาชอบคณิตศาสตร์เชิงประยุกต์ และสนใจอาชีพในด้านธุรกิจเป็นพิเศษ เขาจึงตั้งเป้าหมายว่าจะเรียนคณะบริหารธุรกิจในมหาวิทยาลัยในฮ่องกงและยื่นสมัคร TCAS ในรอบ 1 Portfolio ด้วย แต่อุปสรรคคือประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่ได้ถูกวางบนเส้นทางนี้เลย ทำให้ในช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 6 เขาจึงจำเป็นต้องเร่งพาตนเองไปเข้าร่วมหรือแข่งขันกิจกรรมในเชิงธุรกิจ ไปพร้อม ๆ กับการเตรียมเอกสารในการศึกษาต่อด้วย
ข้าพเจ้าตั้งคำถามกับตนเองว่า เหตุใดนักเรียนทั้งสองลักษณะที่ล้วนเป็นคนเก่ง สามารถแก้ปัญหาที่ได้รับ และหาคำตอบให้โจทย์ต่าง ๆ ได้เสมอ แต่บางส่วนกลับไม่สามารถให้คำตอบกับคำถามในเรื่องของตนได้ และลืมตั้งคำถามที่สำคัญที่สุดไปว่า “ฉันกำลังทำอะไรอยู่” “จริง ๆ แล้วสิ่งที่ฉันกำลังทำอยู่นี้ ฉันทำเพื่ออะไร” “ฉันคือใคร” และ “ฉันอยากเป็นอะไร” เมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าสิ่งที่นักเรียนในลักษณะแรกแตกต่างออกไปก็คือ กิจกรรมใด ๆ ที่เขาเลือกทำล้วนเป็นไปตามเจตจำนงของตน ทำเพราะตนชอบ อยากรู้ อยากทำ เมื่อเห็นผลลัพธ์ในทางบวกแล้วจึงอยากใช้ความสามารถของตนขยายวงออกไปให้เป็นประโยชน์แก่โลกภายนอก
ในขณะที่นักเรียนลักษณะที่สองมักเลือกทำกิจกรรมตามความคาดหวังของสังคม และด้วยความเป็นคนเก่ง เขาจึงสามารถทำได้ดีและประสบความสำเร็จอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามเมื่อกิจกรรมเหล่านั้นไม่ได้มาจากเจตจำนงของตน ในที่สุดเมื่อได้หยุดทบทวนตนเองมักพบว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมาได้นำพาชีวิตให้ออกห่างจากความเป็นตัวตนของเขามากขึ้นเรื่อย ๆ และคำถามที่ว่า “ฉันคือใคร” ก็ยังคงเป็นคำถามที่ยากเสมอสำหรับนักเรียนกลุ่มนี้
ทีมคุณครูแนะแนวการศึกษาต่อจึงเห็นว่า เป็นไปได้หรือไม่หากจะนำกระบวนการตั้งคำถามกับตนเองที่คล้ายกันนี้มาปรับใช้กับนักเรียนทุกคนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เพื่อให้นักเรียนได้ฉุกคิดถึงคำถามนี้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

คณะทำงานกิจกรรมแนะแนวการศึกษา (Self-Discovery & Career Guidance) หลักสูตรโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พุทธศักราช 2566
คณะทำงานกิจกรรมแนะแนวการศึกษาเกิดขึ้นเพื่อสร้างกระบวนการให้นักเรียนได้สำรวจตนเอง สำรวจข้อมูล เปิดโอกาสให้ตนเอง และมีกิจกรรมฝึกฝนให้นักเรียนได้กลับมาสะท้อนความคิดกับตนเอง (Self-reflection) ถึงสิ่งที่ตนเองกำลังทำว่า ในภาคเรียนนี้ได้ทำอะไร เพื่ออะไร อยากเห็นตัวเองในภาคเรียนหน้าเป็นอย่างไร และต้องทำอย่างไรเพื่อไปถึงจุดนั้น การฝึกฝนให้นักเรียนตั้งคำถามกับตนเองเช่นนี้ในทุก ๆ ภาคเรียน หมั่นทบทวนถึงสิ่งที่ได้ทำไป และตั้งเป้าหมายของตนเองในภาคเรียนถัดไป จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คำตอบของคำถามที่ว่า “ฉันคือใคร” ค่อย ๆ ก่อร่างสร้างตัวได้ชัดเจนขึ้น
รูปแบบการจัดกิจกรรมในแต่ละภาคเรียน ประกอบไปด้วย 3 ช่วง

ช่วงที่ 1
กิจกรรม: คณะทำงานฯ จะจัดกิจกรรมให้ความรู้ ฝึกซ้อมสำรวจตนเอง สำรวจข้อมูล การสะท้อนความคิด และมอบภารกิจที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน ให้นักเรียนไปปฏิบัติตลอด 1 ภาคเรียน
สิ่งที่นักเรียนได้รับ: นักเรียนได้เตรียมความพร้อมและฝึกซ้อมสำรวจตนเอง สำรวจข้อมูล และการสะท้อนความคิด
ช่วงที่ 2
กิจกรรม: นักเรียนปฏิบัติภารกิจการสำรวจตนเอง สำรวจข้อมูล และสรุปข้อมูลที่เกี่ยวกับตนเองลงใน Life Portfolio (นักเรียนสามารถสร้างสรรค์ Life Portfolio ได้อย่างอิสระบน Platform ที่นักเรียนถนัด)
สิ่งที่นักเรียนได้รับ: นักเรียนจะเกิดความเข้าใจตนเองใน 2 ระดับ คือ 1) เข้าใจตนเองจากการคิดทบทวนจากช่วงที่นักเรียนต้องปฏิบัติภารกิจ ซึ่งนักเรียนมีโอกาสได้ตั้งคำถามกับตนเอง ได้สำรวจตนเอง และสำรวจข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตนเอง 2) เข้าใจตนเองจากการเรียบเรียงผ่านตัวอักษรใน Life Portfolio
ช่วงที่ 3
กิจกรรม: นักเรียนสรุปภารกิจตลอด 1 ภาคเรียน และตั้งเป้าหมายสำหรับภาคเรียนถัดไปกับคุณครูที่ปรึกษาประจำชั้น
สิ่งที่นักเรียนได้รับ: นักเรียนจะเกิดความเข้าใจในตนเองมากขึ้นจากการสื่อสาร นักเรียนจะเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจที่ได้เล่าเรื่องของตนเองให้คุณครูที่ปรึกษาประจำชั้นฟัง อีกทั้งการสื่อสารเรื่องของตนเองให้แก่ผู้อื่นจะช่วยสร้างพันธสัญญา (Commitment) ที่นักเรียนตั้งเป้าหมายให้ตนเอง
รายละเอียดกิจกรรมแนะแนวการศึกษา ม.4 ภาคเรียนที่ 1
ภารกิจ Explore majors/fields: มอบภารกิจให้นักเรียนหาข้อมูลเกี่ยวกับสาขา (Fields) ที่สนใจ และเลือกสิ่งที่ตนเองสนใจมากที่สุด 3 อันดับ โดยนักเรียนสามารถหาข้อมูลได้จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย มีแบบทดสอบความถนัดและแบบทดสอบบุคลิกภาพเป็นตัวจุดประกายการตั้งคำถามเกี่ยวกับตนเอง
ความหมายของกิจกรรม: กิจกรรมนี้แท้จริงแล้วมิได้มุ่งหมายให้นักเรียนต้องตัดสินใจเลือกสาขา (Fields) ที่จะเป็นอาชีพ หากแต่ต้องการให้นักเรียนได้รับความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพที่มีความหลากหลายยิ่งกว่าที่พวกเขาเคยจินตนาการถึง การตั้งโจทย์ให้นักเรียนได้ลองเลือกสาขา (Fields) ที่ตนเองสนใจ จึงเป็นประตูบานแรกที่เปิดไปสู่การทบทวนตนเองและตั้งคำถามต่อตนเองว่า “ฉันคือใคร” เพราะในขณะที่หาข้อมูลและเลือกอยู่นั้น นักเรียนจะเกิดการทบทวนตนเองโดยอัตโนมัติถึงความชอบ ความสนใจ ความคาดหวัง และคุณค่าที่ตนเองให้ ดังนั้นสิ่งที่เขาเลือกจึงเป็นสิ่งที่แสดงความเป็นตัวตนของเขาเอง เมื่อนักเรียนได้ตัดสินใจเลือกสาขา (Fields) มา 3 อันดับแล้ว สิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักเรียนตั้งคำถามกับตนเองให้ลึกต่อไปอีกว่า อะไรที่ทำให้ชอบ คาดหวัง และให้คุณค่ากับสิ่งนี้
รายละเอียดกิจกรรมแนะแนวการศึกษา ม.4 ภาคเรียนที่ 2
ภารกิจ Explore your strength (Skills): มอบภารกิจให้นักเรียนสำรวจและวิเคราะห์ทักษะของตนเอง ผ่านการคิดทบทวนเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต โดยคณะทำงานฯ ได้ให้นักเรียนเขียนเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของนักเรียนมา 2 เรื่อง จากนั้นให้ฝึกวิเคราะห์ทักษะที่เกิดขึ้นจากเรื่องราวนั้น ๆ และให้สรุปรวมว่าทักษะที่โดดเด่นของตน 3 ทักษะคืออะไร พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายถึงทักษะที่อยากพัฒนาในอนาคต
ความหมายของกิจกรรม:
- ธรรมชาติของมนุษย์มักตระหนักในทักษะของตนผ่านการลงมือทำ คณะทำงานฯ เล็งเห็นจุดเด่นของการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ว่าเป็นกิจกรรมที่มุ่งหมายให้นักเรียนได้มีโอกาสลองและทำกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างทักษะให้นักเรียนหลายประการ คณะทำงานฯ จึงจัดกิจกรรมนี้เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้กลับมาทบทวนและวิเคราะห์ทักษะที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของโรงเรียน
- การที่นักเรียนเลือกเขียนเรื่องเพียง 2 เหตุการณ์ ยังให้ความหมายที่แฝงอยู่อีกชั้นหนึ่งว่านักเรียนให้คุณค่ากับอะไรในชีวิต อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงได้ว่าอะไรที่มีส่วนในการหล่อหลอมตัวตนของนักเรียนจนเป็นอย่างทุกวันนี้
- การที่นักเรียนต้องสรุปรวมทักษะที่โดดเด่นของตนมา 3 ทักษะ และตั้งเป้าหมายทักษะที่ต้องการพัฒนาเพิ่มเติม เป็นการให้ข้อสรุปแก่ตนเองว่า ณ ขณะนี้ “ฉันรู้ว่าฉันมีทักษะอะไรที่โดดเด่น” และ “ฉันรู้ว่าฉันยังต้องพัฒนาทักษะใดเพิ่มเติม”[1]
จะเห็นได้ว่า กิจกรรมแนะแนวการศึกษา หลักสูตรโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พุทธศักราช 2566 ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความตระหนักรู้ในตนเอง โดยเริ่มต้นจากการชักชวนให้นักเรียนสำรวจโลกและความหลากหลายของอาชีพเพื่อรับรู้ข้อมูลปัจจุบัน นำไปสู่การเริ่มตั้งคำถามถึงคุณค่าที่ตนเองให้แก่ชีวิต จากนั้นสำรวจตนเองให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นผ่านประสบการณ์การลงมือทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในและนอกโรงเรียนเพื่อค้นพบทักษะที่ตนเองมี และวางแผนการพัฒนาตนเองในอนาคต
[1]บทความนี้เขียนเมื่อนักเรียนรุ่นแรกของหลักสูตรโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พุทธศักราช 2566 กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จึงกล่าวถึงรายละเอียดกิจกรรมแนะแนวการศึกษาเพียงในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งสรุปข้อมูลได้แล้ว
อ้างอิง
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์. (2562). หลักสูตรโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พุทธศักราช 2562. https://www2.mwit.ac.th/mwitDoc/curriculum/mwits-curriculum-62.pdf
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์. (2566). หลักสูตรโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พุทธศักราช 2566.
โสรีช์ โพธิแก้ว. (2540). แนวคิดจิตวิทยาการปรึกษาและทัศนะจากประสบการณ์. สำนักงานจิตวิทยาและ
พัฒนา.
โสรีช์ โพธิแก้ว. (2552). กระแสธารแห่งชีวิต. พิมพ์สวย.
Brooks, K. (2021). What color is your parachute? for college. Ten Speed Press.