ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียง: อรสิริ อิ่มสุวรรณ์
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
Email:
เด็กบุรีรัมย์คนหนึ่งที่ไม่เคยรู้จัก “MWIT” มาก่อน ไม่เคยวาดฝันว่าการตัดสินใจเดินทางมานครปฐมในวันนั้น จะก่อให้เกิดความรัก ความผูกพัน และทำให้ได้ใช้ชีวิตอยู่ MWIT เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน วันนี้เราจะมาร่วมพูดคุยกับนักเรียนเก่า รุ่นที่ 15 ที่ผันตัวจากนักเรียนมาสู่บทบาทของการเป็นครู กับ “อ.น้ำ – ดร.ธัญนันท์ สมนาม” ครูสาขาวิชาฟิสิกส์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

จุดเริ่มต้นของเส้นทางสู่ MWIT เกิดขึ้นจากการที่เพื่อนค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิกชวนมาสอบ นั่นทำให้ “อ.น้ำ” เริ่มหาข้อมูลของโรงเรียนเพิ่มเติม รวมถึงการรับฟังประสบการณ์ตรงจากคุณแม่ หนึ่งในครูที่มีโอกาสมาร่วมกิจกรรมในโครงการบริการวิชาการของ MWIT และสัมผัสได้ถึงกระบวนการจัดการเรียนการสอน สภาพแวดล้อม และศักยภาพของบุคลากรของโรงเรียน
สัมผัสกับตัวตนของ “MWIT” ด้วยตนเอง
ความประทับใจแรกในโรงเรียนเกิดขึ้นในช่วงการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาต่อ ม.4 รอบสอง อ.น้ำได้เล่าภาพเหตุการณ์ในช่วงนั้นไว้ว่า
“ในการสอบรอบสองจะเป็นการสอบที่โรงเรียน โดยมีการเข้าค่ายประมาณ 3-4 วัน แต่รูปแบบไม่เหมือน Pre-MWIT การสอบนี้เป็นการทำความรู้จักโรงเรียนไปพร้อม ๆ กัน มีกิจกรรมประเภทกลุ่มสันทนาการ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไปเข้าห้องสอบ แม้จะกังวลบ้าง แต่เรามองว่าเป็นการสอบที่น่าสนใจ ในแนวเชิงความคิดสร้างสรรค์ จิตวิทยา มิติสัมพันธ์ มีการสอบปฏิบัติการเล็ก ๆ และที่ชอบคือการให้ฟังบรรยาย โดยมีนักวิทยาศาสตร์และอาจารย์ต่าง ๆ มาเป็นวิทยากร ซึ่งเป็นหัวข้อทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการร้อยเรียงเรื่องราวขึ้นใหม่ แล้วหลังจากนั้น เขาให้เราเข้าห้องสอบเลย ซึ่งเหมือนเป็นการวัดความตั้งใจ วัดทักษะการฟัง วัดทักษะการคิด วัดทักษะการจับประเด็น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาที่จำกัด ทักษะเหล่านี้ต้องผ่านการฝึกฝนจนเกิดเป็นสมรรถนะในการเรียนรู้ ภายในค่ายเราไม่รู้เลยว่าเขาประเมินด้วยกิจกรรมอะไรบ้าง แต่โดยรวมแล้วเป็นบรรยากาศแรกที่ประทับใจ เราเห็นพี่มาช่วยยกกระเป๋า มาถ่ายรูป มาช่วยงาน เลยเห็นภาพว่าถ้าเราได้มาเรียนที่นี่น่าจะได้ทำอะไรแบบนี้ เนื่องจากเป็นคนชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว พอหลังจากจบค่าย เราเลยมั่นใจแล้วว่าต้องเป็นที่นี่แหละ

พอมาเรียนที่นี่ ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่หมด มีคนเก่งกว่าเราเยอะมาก คือเราไม่ใช่ที่ 1 อีกต่อไป ทำให้เราต้องปรับตัวและพยายามมากขึ้น ตอนแรกก็กดดันเพราะที่นี่เรียนยาก ไม่สามารถปล่อยผ่านอะไรได้เลย แต่ด้วยความที่อยู่หอพัก เพื่อน ๆ เลยช่วยกัน ใครเก่งวิชาไหนก็ช่วยกันติว เป็นบรรยากาศที่ดีมาก ๆ แล้วก็ได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง คือรู้สึกว่าตอนนั้นมั่นใจในด้านวิชาการของโรงเรียนมาก ๆ และอยากเน้นการพัฒนาตนเองไปสู่มิติของการทำงานที่โตขึ้น ได้เป็นคณะกรรมการนักเรียน ทำหน้าที่ประกาศหน้าเสาธงทุกวัน การเข้าแถวเคารพธงชาติในทุกเช้าเป็นอะไรที่ขลังและศักดิ์สิทธิ์มาก ยิ่งมองจากมุมสูงจากตึกเรียนจะเห็นการเข้าแถวที่เป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามมาก ๆ”

ทุน MWIT จากระดับ ม.ปลาย ต่อเนื่องจนจบปริญญาเอก
นักเรียน MWIT ทุกคนต่างได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาจากรัฐบาลจนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ก่อนที่จะแยกย้ายกันศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ อ.น้ำมีเส้นทางที่แตกต่างจากคนอื่นเล็กน้อย คือได้รับทุนจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา เพื่อนำความรู้ความสามารถกลับมาพัฒนารุ่นน้องในบทบาทของการเป็นครู
“ตอนนั้นมีประกาศของทางโรงเรียนออกมาว่า มีทุนเรียนต่อปริญญาตรี-โท ด้านฟิสิกส์ที่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นทุนของโรงเรียน ทุนเรียนต่อปริญญาตรีด้านเคมีที่จีน และทุนเรียนต่อปริญญาตรีด้านคอมพิวเตอร์ที่อินเดีย ซึ่งสองทุนหลังเป็นทุนจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยตรง เราสนใจแต่ต้องถามตัวเองว่าอยากเป็นอะไร ซึ่งหลายอย่างบีบให้เราเป็นหมอ พอมีทุนตรงนี้เข้ามา ทำให้เราได้ปลดล็อกอะไรหลาย ๆ อย่าง
ในใจลึก ๆ ไม่ได้อยากจะเป็นหมอ ทำให้เรายิ่งมั่นใจว่าทุนเหล่านี้สามารถทำให้เรามีลู่ทางที่จะเป็นครูได้ เลยตั้งใจว่าฉันจะไป และฉันจะเอาทุนเรียนต่อปริญญาตรี-โท ด้านฟิสิกส์ที่ฝรั่งเศส ด้วยความที่ทั้งพ่อและแม่เป็นครู ชอบความเป็นครูมาตั้งแต่เด็ก ๆ พอมาที่นี่เราก็จะเป็นคนติวเพื่อน ติวฟิสิกส์ ติวคณิตฯ ตอน ม.5 ก็มีเพื่อนมาบอกว่า “แกเหมาะกับการเป็นครูเนอะ แกอธิบายรู้เรื่องมากเลย” ยังจำคำเพื่อนจนถึงวันนี้ได้ พอมาเจอทุนนี้เลยมั่นใจว่าเราอยากจะเป็นครูนี่แหละ บวกกับการเห็นกิจกรรมของโรงเรียนทั้งหมด ด้วยตอนนั้นไม่ได้มีโรงเรียนที่มีความพร้อมมากในประเทศไทย ทำให้ตัวเองรู้สึกโชคดีมาก ๆ MWIT เปิดโลกกว้างให้เรา รู้สึกซาบซึ้งกับทุกอย่างในโรงเรียน และทุนนี้ทำให้เราได้กลับมาเป็นครู มาพัฒนา มาตอบแทนโรงเรียนได้ เลยมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะสมัคร ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ผลการเรียน กิจกรรม ความประพฤติ และอื่น ๆ ตามกระบวนการคัดเลือกค่ะ”

พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ตลอดช่วงเวลาการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา อ.น้ำได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่านในการรับเป็นนักเรียนในพระราชูปถัมภ์ ซึ่งพระองค์ท่านได้พระราชทานคำแนะนำมาโดยตลอด สร้างความซาบซึ้งให้ อ.น้ำ อย่างมิรู้เลือน
“มีการเข้าเฝ้าฯ เพื่อเป็นการลาศึกษาต่อ นอกจากเราดีใจแล้ว ยังทำให้พ่อแม่เราดีใจด้วยที่ได้เข้าเฝ้าฯ ตอนนั้นคิดว่าน่าจะมีโอกาสเพียงเท่านี้ แต่ระหว่างไปเรียนเราได้ทำรายงานการเรียนทุกเทอม ซึ่งโรงเรียนได้ถวายรายงาน และพระองค์ได้พระราชทานข้อเสนอแนะแก่โรงเรียนในการดูแลเรา
ทุนที่ได้รับเป็นทุนเรียนต่อด้านฟิสิกส์ที่ฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศที่เราชอบ ตอนแรกตั้งใจจะไปเรียนฟิสิกส์นิวเคลียร์ เพราะที่นั่นเก่งด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ แต่พอเรียนไปเรียนมา ก็มีการเปลี่ยนแนวคิดเป็นด้านฟิสิกส์วัสดุศาสตร์ โดยระหว่างเรียน ท่านพระราชทานคำแนะนำ กำลังใจ และเมื่อครั้งที่เสด็จฯ เยือนฝรั่งเศส ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ 3-4 ครั้ง แต่ที่รู้สึกว่าเราได้ทำประโยชน์มากคือในช่วงปี 2009 ครั้งที่พระองค์ท่านทรงพาคณะนักวิทยาศาสตร์ไทยไปที่ฝรั่งเศสประมาณอาทิตย์กว่า ๆ พาไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไปดูระบบการบริหารรถไฟความเร็วสูงว่าเขามีการจัดการอย่างไร และไปที่ศูนย์วิจัยฟิสิกส์อนุภาคที่เซิร์น (CERN) ตอนนั้นได้มีโอกาสตามเสด็จฯ และเป็นล่ามไปในตัว นอกจากช่วยเป็นล่ามแล้ว ยังมีโอกาสช่วยแปลข่าวจากฝรั่งเศสเป็นภาษาไทยเพื่อส่งกลับไปจัดทำข่าวในพระราชสำนัก ทำให้เรารู้สึกว่าได้ใช้ความรู้ความสามารถสร้างประโยชน์ได้มากในทริปนั้น และได้เปิดโลก ได้เห็นในสิ่งที่เราเข้าไปดูเองไม่ได้ ทำให้เรารู้สึกว่าท่านทรงสนพระทัยนักเรียนที่ท่านดูแลอย่างมาก และท่านทรงสร้างโอกาสให้แก่คนไทยในการเข้าไปเรียนและทำงานที่เซิร์นตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา”

เรียนภาษาฝรั่งเศสแบบเร่งรัด ใช้ชีวิตในเมืองที่ไม่พูดภาษาอังกฤษ ชีวิตที่สื่อสารไม่ได้ ท้อจนร้องไห้
จากเด็กที่ไม่เคยเรียนภาษาฝรั่งเศสมาก่อน อ.น้ำต้องเรียนภาษาในช่วงระยะเวลาอันสั้น แต่กลับไม่สามารถสื่อสารได้ในชีวิตจริง ขนาดจะซื้ออาหารในซูเปอร์มาร์เก็ตยังต้องเดินกลับบ้านตัวเปล่าเพราะคุยไม่รู้เรื่อง แต่ อ.น้ำก็ฮึดสู้จนเอาตัวรอดมาได้
“สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในต่างประเทศ (สนร.) ส่งไปอยู่ในเมืองเล็ก ๆ ที่ส่วนใหญ่มีแต่คนชราและหมาแมว ส่งเราไปในที่ที่ต้องอาศัยเทคนิคการเอาตัวรอด โดยเราไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษในเมืองนั้นได้เลย ก่อนเดินทางจะมีทุนในการเรียนเพื่อปรับตัวด้านภาษา ก็ได้ไปเรียนที่ Alliance Française ซึ่งเป็นอาจารย์ชาวฝรั่งเศส พูดภาษาอังกฤษในการสอนภาษาฝรั่งเศส ทำให้เราจับต้นชนปลายได้บ้าง และด้วยระยะเวลาอันสั้นที่เราจะต้องไปแล้ว เลยคิดว่าต้องเร่งรัดทางภาษา จึงไปลงเรียนอีกคอร์สหนึ่งกับนักเรียนสายศิลป์ฝรั่งเศส พร้อมทั้งไปซื้อหนังสือเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยสายศิลป์ฝรั่งเศสมานั่งเรียนเอง 2 เดือนก่อนเดินทาง โดยไม่รู้ว่ามาถูกทางหรือเปล่า แต่คิดว่าได้แหละ เพราะเราเตรียมตัวมาแล้ว พอเอาเข้าจริงคนฝรั่งเศสในเมืองเล็ก ๆ นั้น เขาพูดเร็วมาก เราฟังไม่รู้เรื่อง และเขาก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย เราจึงต้องใช้ท่าทางภาษามือไป ก็ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง บางทีเวลาคุยกับเขา เขาอาจจะหงุดหงิดใส่ เลยเริ่มหวั่น ๆ ว่าเราจะใช้ชีวิตต่ออย่างไร มีครั้งหนึ่งที่เรารู้สึกว่า ไม่ได้แล้วถ้าเราจะใช้ชีวิตแบบนี้ คือการที่เราไปซื้อของ ไปซื้ออาหาร แล้วฟังไม่ทัน ไม่รู้ว่าเขาพูดอะไร จุดนั้นเป็นการไปซื้ออาหารที่ไม่ได้ของกลับมา เราเลยถามตัวเองว่า เราต้องทนอยู่ในสภาวะแบบนี้หรือ มันเป็นโลกที่เหมือนไม่มีใครพูดกับเรารู้เรื่องได้แล้ว ผู้หญิงอายุ 18 คนเดียวในโลกกว้าง บวกกับความไกลบ้านด้วย เดินกลับมาร้องไห้ เราต้องทำอย่างไร ในกระเป๋ามีแต่เหรียญเพราะฟังไม่ออกว่ามันเท่าไร ต้องจ่ายแต่แบงก์ใหญ่ ซึ่งก็จะได้รับแต่เหรียญกลับมา ด้วยอะไรหลาย ๆ อย่าง เราจึงต้องเปลี่ยนตัวเอง สิ่งที่เตรียมไปอาจจะไม่ถึงจุดที่ช่วยเราได้ เราจึงต้องแก้ปัญหา ก็คือช่างมัน เราจะพูดจนกว่าเขาจะรู้ ถ้าเขาไม่รู้เรื่อง เราก็ยื่นกระดาษที่เขียนมาให้เขาเลย เลยรอดมาได้ ถึงจะดูน่าอายในสายตาคนอื่น แต่ก็ได้กินในสิ่งที่เราอยากกิน เลยคิดได้ว่า เราไปในที่ที่ไม่มีใครรู้จักเราแล้ว ไม่ต้องอาย ปล่อยมันไป
ตอนนั้นเปลี่ยนฟังก์ชันทุกอย่างในคอมพิวเตอร์เป็นภาษาฝรั่งเศสทั้งหมด ซื้อคีย์บอร์ดภาษาฝรั่งเศส และไปเรียนเพิ่มเติม อาจารย์จะสอนภาษาฝรั่งเศสด้วยภาษาฝรั่งเศส ซึ่งไม่เหมือนกับตอนที่เราไปเตรียมความพร้อมมา ก็ไปเรียนแบบไม่รู้เรื่องประมาณ 2 เดือน ฟังไม่ออก ฟังไม่ทัน พยายามอดทนเรียนแบบนั้นมา อยู่ไปอยู่มาเหมือนมันซึมเข้าไป ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนผ้าขาวสะอาดที่ไม่เคยมีอะไรเลย เราไม่มีจุดปิดกั้นในการรับสีที่จะเทเข้ามา สรุปคือจากที่ตัวเองกล้าแล้ว พอไปถึงตรงนั้นเราไม่กล้าทำอะไรสักอย่าง ด้วยความที่ถ้าเราพูดไม่ได้ เราจะอยู่ไม่ได้ มันทำให้เราต้องกล้ามากยิ่งขึ้นกว่าตอนที่อยู่ MWIT อีก คือไม่รู้ก็ถามจนกว่าจะได้ แต่ก็มาด้วยทักษะการใช้ชีวิตที่ไปฝึกซ้อมจนกว่าจะได้ ได้ไปร่วมกิจกรรมทุกอย่างกับทางโรงเรียน ไปขี่ม้า ไปปิกนิก ไปทัศนศึกษา เคยคิดว่าเราจะไม่เข้าร่วมหรอก เพราะมีแต่นักเรียนต่างชาติเหมือนกัน จะได้เรียนรู้ภาษาฝรั่งเศสที่ถูกต้องหรือ ปรากฏว่าการไปแบบนั้นทำให้เราได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ จากเพื่อนต่างชาติ และครูฝรั่งเศสช่วยแก้ไขภาษาให้ตลอดในการใช้ภาษาในสถานการณ์จริง ทำให้ปรับตัวทางภาษาได้ในปีแรก นอกจากการเรียนด้านภาษาแล้ว ยังฝึกการเข้าสังคม การเอาตัวรอด ทำให้เรากล้าที่จะเปลี่ยนตัวเอง เพราะมันถึงจุดที่เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง หลังจากนั้นเป็นคนที่ไม่กลัวอะไรอีกแล้ว เวลาเจอปัญหาที่เกิดขึ้น เรารู้จักการสอบถามอย่างมีมารยาท เข้าหาคนฝรั่งเศสอย่างไรให้เขาเอ็นดูเรา อยู่ไปเราก็ได้ภาษาเองเลย มีคนบอกว่าถ้าเราไปอยู่ที่ไหนแล้วเราฝันเป็นภาษานั้นแสดงว่าใช่ เดือนที่ 3 เลยมีเก็บไปฝัน ตลอดเวลาที่ได้ใช้ภาษานั้นจริง ๆ ทั้งเรื่องการพูดและการเขียนทุกอย่าง ทำให้ได้เข้ามหาวิทยาลัยด้วยภาษาฝรั่งเศสภายใน 6-7 เดือน ด้วยระดับภาษาฝรั่งเศส B2
ผ่านจุดนั้นมาได้ พอเข้าปารีสก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เวลาอาจารย์เขาอธิบายยาว ๆ เริ่มมีความยากเพราะสำเนียงฟังยากมาก สุดท้ายก็ได้กลุ่มเพื่อนฝรั่งเศสที่อยู่ด้วยกันมาตลอดคอยช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ เช่น ให้ยืมสมุดจดบันทึก ช่วยตรวจรายงาน ทำให้เอาตัวรอดมาได้ และค่อย ๆ ได้ภาษาขึ้นมาเอง”

9 ปี กับการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นครู
“ตั้งใจไว้ว่าจะไม่ใช้ทุนเกินกว่าที่เราได้รับ โชคดีตอน ป.โท ได้เรียนรู้งานที่ lab หนึ่ง คือที่ École Normale Supérieure ที่ปารีส ซึ่งอาจารย์เขาเอ็นดูเรา ทำให้ ป.เอก กลับมาที่ lab นี้อีกครั้ง เลยได้เรียน ป.โท-ป.เอก 5 ปี เราโชคดีที่ไปได้ถูกทางและมีผล lab ที่ดี เลยเรียน ป.ตรี โท เอก รวบใน 9 ปี แต่จริง ๆ แล้วตอนแรกได้สัญญาทุนแค่ปริญญาตรีกับปริญญาโท แต่ด้วยพระบารมีของพระองค์ท่านที่เสด็จฯ มาฝรั่งเศสในช่วงเรียน ป.โท ปีสุดท้ายพอดี จึงมีโอกาสได้ถวายรายงานเรื่องการเรียน ท่านจึงตรัสกับรองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ว่า ถ้าเรียนที่นี่แล้วเป็น lab ที่ดี ให้โรงเรียนพิจารณาต่อสัญญาทุน ทำให้ได้เรียน ป.เอก ต่อเลย กลายเป็นทุนปริญญาตรี โท เอก เลยค่ะ”


เส้นทางสายใหม่ด้วยบทบาทของการเป็นครู
หลังจากเรียนจบในสาขาที่เรียกว่า Condensed Matter Physics อ.น้ำกลับมาบ้านด้วยความภาคภูมิใจ พร้อมเริ่มบทบาทใหม่ของชีวิตด้วยการเป็นครู
“ในการสอนนักเรียน เราได้ใช้ประสบการณ์ที่ได้ไปเรียนต่อมาเล่าให้รุ่นน้องเราฟัง ให้เขาได้เห็นว่าเราเจออะไรมา มีวิธีการรับมืออย่างไร ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่นอกจากวิชาการแล้ว เรายังได้ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตของเราให้นักเรียนด้วย อย่างน้อยเขาก็มีแหล่งข้อมูลที่ได้ใช้เตรียมตัว มีนักเรียนมาคุยเรื่องศึกษาต่อกับเรา ทำให้รู้สึกว่าเราไม่ใช่แค่ครูฟิสิกส์ แต่เราเป็นรุ่นพี่ แนะแนวในเรื่องการศึกษาต่อกับน้องได้ ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่เราได้ตอบแทนโรงเรียน นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสดูแลเรื่องดาราศาสตร์โอลิมปิก โดยเป็นคณะทำงานกิจกรรมโอลิมปิกวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นอาจารย์ผู้นำทีมนักเรียนไปแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจมาก

การเป็นครูไม่ใช่แค่ออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบ เหมือนที่เราเคยคิดตอนเราเด็ก ๆ แต่เป็นเรื่องของการถ่ายทอดวิชาความรู้และประสบการณ์ มุมมองความคิดใหม่ ๆ จากการเป็นครูทำให้เราโตขึ้นไปด้วย ถ้าเราไม่ได้เป็นครู อาจทำให้เรามีความคิดอีกแบบหนึ่ง เราต้องพิจารณาดี ๆ ในสิ่งที่เราจะสื่อสารออกไปยังนักเรียนที่เขารอฟังเรา จะออกมาในรูปแบบไหน เราคงเป็นได้แค่ผู้ให้ข้อมูล ส่วนการตัดสินใจควรเป็นเรื่องของนักเรียนเอง ดังนั้นการให้ความเห็นส่วนตัวของเราต้องผ่านการกลั่นกรองมากขึ้น

นักเรียนสมัยนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน ทำให้ความยากของการเป็นครูที่นี่ยุคนี้คือเรื่องการดีล (Deal) กับนักเรียนแต่ละแบบ นักเรียนเจน (Generation) เปลี่ยนไป เขาเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่าย แหล่งความรู้หลากหลายมาก ดังนั้นการสอนนักเรียนจะเป็นอีกรูปแบบ คือเราต้องเตรียมความรู้เราให้เพียงพอ บรรยาย (Lecture) แบบปกติอาจไม่ได้แล้ว อาจจะต้องเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน สร้างความสนใจ แต่ทั้งหมดทั้งมวลต้องพูดกันด้วยเหตุและผล โดยใช้จิตวิทยาร่วมด้วย สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เราพัฒนาการเป็นครูให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น”
“จากนี้คิดว่าจะทำหน้าที่ครูของเราให้ดียิ่งขึ้นต่อไป จะทำเพื่อ MWIT ต่อไป ตอนทำงานก็มีท้อ มีเหนื่อยนะ แต่เมื่อนึกถึงความตั้งใจของเราตั้งแต่ตอนที่ตัดสินใจรับทุน ยังเป็นความรู้สึกที่อยากทำอยู่ อยากอยู่ตรงนี้ อยากใช้ความสามารถเราให้มากที่สุด ไม่ว่าโรงเรียนจะเติบโตไปในทิศทางไหน เราก็พร้อมจะผลักดันโรงเรียนไปในทางที่ดีที่สุด”
นี่คือความตั้งใจของ “ดร.น้ำ – ธัญนันท์ สมนาม” นักเรียนเก่ารุ่นที่ 15 และครูสาขาวิชาฟิสิกส์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
อ้างอิง
ธัญนันท์ สมนาม, การสื่อสารส่วนบุคคล, 1 มีนาคม 2567